วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (៤)


[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (4)

-------------------------------------

ในวันที่ 2 ของทริป จะเป็นไปเที่ยวตามปราสาทรอบนอก ที่ห่างจากนครวัด-นครธม ออกไปทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับครึ่งเช้าจะเป็นปราสาทขอมในพื้นที่แถบเกาะแกร์ครับ



กลุ่มพวกผมเหมารถแท็กซีจากที่พักในเมืองเสียมเรียบ (ทางผมติดต่อแท็กซีตั้งแต่ที่เมืองไทย) จนมาถึงระหว่างทาง พี่คนขับแท็กซีพาแวะจุดขายตั๋วเข้าชมเกาะแกร์ และปราสาทบึงมาลา (เบ็งเมเลีย) ค่าตั๋วนี้จะไม่รวมกับค่าเหมาแท็กซี โดยค่าตั๋วสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติรายคนจะอยู่ที่ 10 USD สำหรับเกาะแกร์ และ 5 USD สำหรับปราสาทบึงมาลา (ข้อมูล ณ ก.ค. 2557)


นอกจากนี้ ในทริปแบคแพคครั้งนี้ ก็ไม่ได้จ้างไกด์ไปด้วย เพราะต้องเสียเงินเพิ่ม และที่นั่งบนรถแท็กซีที่เป็นรถเก๋งมีจำกัด (คนขับ 1 คน กับพวกผมอีก 3 คน)


เกาะแกร์-โฉกครรคยาร์: อดีตเมืองหลวงสั้นๆ แห่งอาณาจักรขอม

เกาะแกร์ (Koh Ker, “เกาะฮ์เก” ប្រាសាទកោះកេរ្ដិ) เป็นแหล่งโบราณสถานทางตอนเหนือของกัมพูชา ที่อยู่ไกลจากบริเวณเมืองพระนคร (“ยโสธรปุระ” หรือนครวัด-นครธม) โดยอยู่ห่างออกไปราว 120 กิโลเมตร (ระยะห่างประมาณบางกอก-ตัวเมืองกาญจนบุรี ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งหากเดินทางด้วยรถยนต์) อยู่กลางป่าและมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง

การที่เกาะแกร์อยู่กลางป่าห่างไกลจากเมืองพระนคร ทำให้การดูแลในช่วงที่เมืองพระนครเริ่มเป็นที่รู้จักสู่โลกภายนอกเป็นไปได้ยาก และได้รับความเสียหายจากการขุดค้นหาโบราณวัตถุของโจรอยู่บ่อยครั้ง

พื้นที่อนุรักษ์ของเกาะแกร์ 81 ตารางกิโลเมตรมีโบราณสถานที่ถูกค้นพบแล้ว 108 แห่ง แต่มีโบราณสถานเพียง 20 กว่าแห่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ เนื่องจากโบราณสถานส่วนใหญ่อยู่ในป่าลึก และพื้นที่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้จัดการเรื่องกับระเบิดสมัยสงครามกลางเมือง

“เกาะแกร์” ยังเป็นชื่อในปัจจุบันของอดีตเมืองสำคัญในอาณาจักรขอมเมืองหนึ่ง โดยในหลักศิลาจารึกกล่าวอ้างถึงในนาม “ลิงคปุระ” (เมืองแห่งศิวลึงค์) หรือ “โฉกครรคยาร์” (บางแหล่งก็ให้ความหมายว่า “เมืองแห่งแร่เหล็กแดง” หรือ “ป่าต้นตะเคียน”)

แผนที่แสดงพื้นที่บริเวณเกาะแกร์ ซึ่งมีบารายราฮาล (Rahal Baray) ยาว 1.2 กิโลเมตร กว้าง 560 เมตร เป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญของเมือง แต่ปัจจุบันบารายแห่งนี้ได้ตื้นเขินไปเกือบหมดแล้ว


ภาพจำลองจากมุมเฉียงแสดงพื้นที่เกาะแกร์ แสดงทั้งบารายราฮาล และศาสนสถานโดยรอบ ลูกศรสีแดงแสดงทิศทางที่แต่ละปราสาทหันหน้าไป ส่วนปราสาทธม พร้อมพีระมิดใหญ่ของปราสาท ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่สุดในเกาะแกร์ อยู่ทางขวาล่างของภาพ
[ที่มาของภาพ: Archaeology & Development Foundation – Phnom Kulen Program]


เกาะแกร์เคยเป็นเมืองของของอาณาจักรขอมอยู่ไม่นานนัก ช่วงปี ค.ศ.928-944 ในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 และพระเจ้าหรรษวรมันที่ 2 (ตรงกับสมัยอาณาจักรหริภุญชัย-ละโว้-ตามพรลิงก์ ที่เคยอยู่บนดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน) โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 โปรดให้มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองนี้ขึ้น ได้แก่ สระกักเก็บน้ำ (บาราย) ขนาดใหญ่ และวัดฮินดูราว 40 แห่งในรัชสมัยของพระองค์ โดยมีปราสาทธม (บางที่เรียก “ปราสาทธม-ปราสาทปรางค์”) เป็นวัดสำคัญของเมือง จุดเด่นของปราสาทแห่งนี้คือ พีระมิด 7 ชั้นสูง 36 เมตร สำหรับประดิษฐานศิวลึงค์ไว้บนยอด

สำหรับบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ขอมของเกาะแกร์นั้น คงต้องเท้าความไปถึงข้อมูลของกษัตริย์ 2 พระองค์ระหว่างรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 และพระเจ้าอิสาณวรมันที่ 2) ที่มีอยู่น้อยมาก
อีกทั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 นั้นแต่เดิมเป็นพระญาติที่สมรสเข้าราชวงศ์ นักประวัติศาสตร์จึงคิดว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 อาจทรงขึ้นครองราชย์ด้วยการปราบดาภิเษก (ขึ้นครองราชย์หลังจากการสู้รบกำจัดอำนาจเดิมแล้ว) หรือขึ้นครองราชย์โดยสันติ ผ่านกฏมณเฑียรบาลไม่ก็การสนับสนุนของขุนนาง

ในปี ค.ศ.921 (รัชสมัยพระเจ้าหรรษวรมันที่ 1) พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ที่อยู่ในฐานะผู้นำท้องถิ่นบริเวณเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์ / ลิงคปุระ) ได้ให้เริ่มสร้างวัดฮินดูขนาดใหญ่ (ปราสาทธม) ขึ้นที่นี่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าพระองค์เป็นใหญ่ในแผ่นดินขอม และเปิดฉากการสร้างเกาะแกร์ให้เป็นเมืองขึ้นมาเทียบรัศมีกับเมืองยโศธรปุระ

เมื่อพระองค์เตรียมความพร้อม หาการสนับสนุนทั้งการเมือง-การทหาร กะช่วงเวลาที่เหมาะสมจนได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 4 ก็ทรงไม่ไปประทับที่ยโศธรปุระ แต่ประทับอยู่ที่เกาะแกร์ตลอดรัชกาล ทำให้ประวัติศาสตร์ขอมช่วงนี้ถือได้ว่า พระองค์ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโศธรปุระมายังเกาะแกร์

นักประวัติศาสตร์คิดสมมติฐานที่อาจเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการย้ายเมืองหลวงดังกล่าว คือ การย้ายเมืองหลวงมายังภูมิลำเนาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 เพื่อความมั่นคง และหลีกเลี่ยงการปะทะกับกลุ่มอำนาจอีกฝ่ายที่ยโศธรปุระ

แล้วเพราะเหตุใด พื้นที่เกาะแกร์ที่ไม่เคยมีบทบาทในประวัติศาสตร์ อย่างเมืองหริหราลัย (กลุ่มปราสาทโรลัวะ) จึงเพิ่มศักยภาพจนเป็นเมืองหลวงได้

เกาะแกร์มีข้อด้อยตรงที่ดินบริเวณนี้ค่อนข้างแห้งแล้ง ถึงพอจะทำนาข้าวได้ แต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับบริเวณเมืองพระนคร (ยโศธรปุระ) เสบียงอาหารของเกาะแกร์จึงไม่น่าไม่เพียงพอกับประชากรจำนวนมาก (หลักศิลาจารึกกล่าวถึงประชากรของเกาะแกร์ช่วงที่เป็นเมืองหลวงว่ามีเกิน 10,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ หากเทียบตามบรรทัดฐานในสมัยนั้น)

นำไปสู่คำถามถัดไป...เกาะแกร์สามารถรักษาเสบียงอาหารสำหรับประชากรหลักหมื่นคนได้อย่างไร

จากการที่เกาะแกร์ค่อนข้างแห้งแล้ง เสบียงอาหารและภาษีที่ได้จากการปลูกข้าวจึงไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีได้ จึงมีสมมติฐานเพื่อใช้อธิบาย 2 ข้อ ดังนี้

- เกาะแกร์มีวิทยาการและทรัพยากรเหล็กสำหรับการทำอาวุธ สามารถนำไปค้าขายแลกเปลี่ยนหรือเก็บภาษีได้: แต่จุดอ่อนของคำอธิบายนี้คือ โรงตีเหล็กสมัยโบราณอยู่ห่างจากเกาะแกร์ไปนับร้อยกิโลเมตร

- เกาะแกร์เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าสำคัญแห่งหนึ่ง โดยเป็นชุมทางของ “ถนนสายราชมรรคา” (Royal road) โดยอยู่บนถนนสายราชมรรคาเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมระหว่างเมืองยโสธรปุระ (เมืองพระนคร) - ปราสาทบึงมาลา - เกาะแกร์ - เมืองเศรษฐปุระ (ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก ลาวใต้) และทางคมนาคมอีกเส้นจากเกาะแกร์ไปยังศรีสิขเรศวร (ปราสาทพระวิหาร)

การที่เกาะแกร์เป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าสำคัญทำให้สามารถเก็บภาษีรวมถึงนำเข้าเสบียงอาหารจากเมืองอื่นได้ ซึ่งการเป็นชุมทางสำคัญของเกาะแกร์ ยังสะท้อนได้จากการสร้าง “ธรรมศาลา” (เรือนพักหรือป้อมตรวจการที่ตั้งตามถนน) และ “อโรคยศาลา” (โรงพยาบาลเล็กๆ สร้างตามแหล่งชุมชนโบราณ) ในพื้นที่เกาะแกร์ด้วย

สมมติฐานเรื่องชุมทางคมนาคมของเกาะแกร์ ถูกยอมรับเป็นคำอธิบายถึงแหล่งเสบียงอาหารและความสำคัญของเมืองนี้ในสมัยอาณาจักรขอมมากที่สุดในปัจจุบัน

แผนที่แสดงเครือข่าย “ถนนสายราชมรรคา” ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ยโศธรปุระ (นครวัด-นครธม) ไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยถนนเส้นตะวันออกเฉียงเหนือจะผ่านปราสาทบึงมาลา และเกาะแกร์ (เมืองโฉกครรคยาร์) ก่อนจะไปต่อยังจำปาสัก ภาคใต้ของลาว (เมืองเศรษฐปุระ) ซึ่งจากเกาะแกร์ หากเดินทางขึ้นเหนือเลียบตามแม่น้ำ ก็จะไปยังปราสาทพระวิหาร (ศรีสิขเรศวร) ได้

ปราสาทขอมในพื้นที่เกาะแกร์เท่าที่ได้ไปในทริปนี้

1. ปราสาทธม (Prasat Thom, ប្រាសាទធំ “ปราสาททุม”)

ปราสาทธมเป็นวัดในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดและวัดหลักที่สำคัญที่สุดในเกาะแกร์ จึงอาจเป็นที่มาของชื่อปราสาท “ปราสาทใหญ่” (คำว่า ធំ “ธม” หรือที่อ่านออกเสียงในภาษาเขมรว่า “ทุม” แปลว่า “ยิ่งใหญ่”) ปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นราวปี ค.ศ.921 โดยอาคารประธานของปราสาทธม มีลักษณะเป็น “ศาสนบรรพต” รูปร่างแบบพีระมิด คล้ายพนมบาแคง พีระมิดนี้ก็ถูกเรียกว่า “ปรางค์” ด้วย มีความสูง 36 เมตร (ความสูงปัจจุบันที่พระปรางค์บนยอดพีระมิดพังลงมาแล้ว) นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าหากรวมความสูงของพระปรางค์ครอบศิวลึงค์ที่ชั้นบนสุดแล้ว ตัวพีระมิดจะสูงราว 50-60 เมตร พีระมิดแห่งปราสาทธมนับเป็นอาคารตามปราสาทขอมในกัมพูชาที่มีความสูงเป็นอันดับ 2 รองจากพระปรางค์องค์กลางของนครวัด ที่มีความสูง 213 เมตร แต่นครวัดถูกสร้างหลังจากปราสาทธมถึงราว 200 ปี

ถึงแม้พีระมิดของปราสาทธมจะมีรูปแบบเป็นฐานยกสูงลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ เช่นเดียวกับวัดหลักสำคัญในเมืองหลวงของขอมก่อนหน้านี้ ได้แก่ ปราสาทบากองแห่งเมืองหริหราลัย และปราสาทพนมบาแคงของเมืองยโศธรปุระแห่งแรก แต่กลับแตกต่างตรงที่พีระมิดของปราสาทธมไม่ได้สื่อถึงเขาพระสุเมรุ

แผนที่ปราสาทธม โดย Parmentier แสดงทั้งมุมมองจากด้านบน และด้านข้าง (ภาพวาดสมมติปราสาทธมในสภาพสมบูรณ์) ไล่จากตะวันออกไปตะวันตก ได้แก่
- พื้นที่ที่ถูกเรียกว่าพระราชวัง (Palace) แต่นักประวัติศาสตร์คิดว่าน่าจะเป็นห้องปฏิบัติธรรมหรือสวดภาวนา สำหรับกษัตริย์หรือชนชั้นสูงมากกว่า
- บริเวณร้านอาหารและขายของที่ระลึกในปัจจุบัน (Restaurant)
- โคปุระชั้นนอก (“โคปุระ” คือ ซุ้มประตูช่องทางเข้าออกศาสนสถาน)
- บรรณาลัย (ห้องสมุด) ซ้าย-ขวา
- ปราสาทกรอฮอม (Prasat Graham)
- ตัววัด (Main Temple) ที่มีบารายขนาบ 2 ด้าน
- พีระมิด 7 ชั้น
- “พนมดำเรยซอ” (เขาช้างเผือก ในแผนที่ใช้คำว่า “Hillock”) ซึ่งอาจเป็นสุสานของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 หรืออาจเป็นโครงสร้างที่ค้างจากการเตรียมสร้างพีระมิดแห่งที่ 2

แผนที่ปราสาทธม แบ่งสีตามวัสดุก่อสร้างอาคาร ได้แก่ ศิลาแลง (Laterite), อิฐ และหินทราย
[ที่มาของแผนที่: http://www.angkor-ruins.com/maps/maps.htm ]

ซากหน้าบันที่ร่วงลงมากองอยู่ที่พื้น ตรงบริเวณโคปุระชั้นนอก

ปราสาทกรอฮอม ปราสาทก่ออิฐสีแดงทางด้านหน้าของปราสาทธม

ซากอาคารที่หน้าบันปรากฏรูสำหรับใส่คานไม้รองรับหลังคา

ซากฐานเทวรูปพระศิวะภายในปราสอทกรอฮอม

เสาที่ล้มเรียงรายใกล้ปราสาทกรอฮอม

กลุ่มพระปรางค์ในบริเวณตัววัดของปราสาทธม

พีระมิดใหญ่แห่งปราสาทธม ซึ่งเป็น Landmark ของเกาะแกร์

บันไดไม้ที่ทางขึ้นด้านหน้าของพีระมิดถูกปิดไปเนื่องจากมีสภาพทรุดโทรม จึงต้องขึ้นบันไดไม้ที่ทำไว้อยู่ด้านข้างแทน

“พีระมิดใหญ่แห่งเกาะแกร์” อีกสักรูป

ทิวทัศน์จากชั้นบนสุดของพีระมิด รอบข้างเต็มไปด้วยป่า ท้องทุ่ง หรือหมู่บ้านเล็กๆ


2. ปราสาทลึงค์ (Prasat Linga, ប្រាសាទលិង្ “ปราสาทลึง”)

ปราสาทลึงค์ เป็นกลุ่มของปราสาทขนาดเล็ก 3 หลัง โดยตัวปราสาทที่มีศิวลึงค์ใหญ่สุด เส้นรอบวงประมาณ 2-3 คนโอบ ตั้งอยู่บนฐานโยนี เมื่อพราหมณ์ทำพิธีอภิเษกองค์ศิวลึงค์จะรดน้ำลงไปยังศิวลึงค์ แล้วไหลตามร่องตรงฐานโยนี ก่อนที่จะออกไปยังภายนอกปราสาท ร่องและท่อที่ให้น้ำที่ผ่านพิธีนี้ไปภายนอกเรียกว่า “ท่อโสมสูตร” น้ำดังกล่าวจะถูกนำไปใช้อาบ หรือราดลงไปไปที่มือ เพื่อเป็นการชำระล้างบาปออกไป

ปราสาทลึงค์

ศิวลึงค์ขนาดใหญ่บนฐานโยนีในปราสาทลึงค์

ด้านข้างของฐานโยนีที่มีลวดลายแกะสลัก ซึ่งเป็นส่วนของฐานโยนีที่ยื่นไปทำหน้าที่เป็นท่อโสมสูตร นำน้ำที่รดศิวลึงค์ไหลออกไปนอกปราสาท

ปลายท่อโสมสูตรที่ใช้ปล่อยน้ำออกมา ปรากฏเป็นรูเล็กๆตรงกลางซุ้ม

3. ปราสาทกระจับ (Prasat Krachap, ប្រាសាទក្រចាប់ “ปราสาทเกราะจับ”)

ชื่อของปราสาทแห่งนี้มาจาก “กระจับ” พืชไม้น้ำชนิดหนึ่งที่ในภาษาไทยและเขมรเรียกเป็นชื่อเดียวกัน ปราสาทกระจับประกอบด้วยอาคาร 5 หลังวางตัวเรียงกันเป็นรูปกากบาท ที่หน้าจั่วเหนือประตูโคปุระด้านตะวันตกมีรูรูปสี่เหลี่ยม แสดงว่าเครื่องบนของอาคารมีไม้คานเสียบไว้ และรอบรับหลังคามุงกระเบื้อง ที่กรอบประตูโคปุระด้านตะวันตกนี้ ยังมีจารึกในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 บ่งชี้ว่ามีพิธีอภิเษกปราสาทแห่งนี้ในปี ค.ศ.928 ปีที่เกาะแกร์เริ่มเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอม

ปราสาทกระจับ

หน้าบันรูปพระยมขี่ควาย หรือพระศิวะขี่โคนนทิ (?)


4. ปราสาทบันทายปีจวน (Prasat Bantaey Pichean, ប្រាសាទបន្ទាយពីរជាន់ “ปราสาทบ็อนเตียยปีจวน”)

ชื่อปราสาทแห่งนี้ มาจากคำว่าบันทาย (បន្ទាយ “บ็อนเตียย”) แปลว่า “ป้อม”, ปี (ពីរ) แปลว่า “สอง” และจวน (ាន) แปลว่า “ชั้น” ชื่อปราสาทจึงแปลตรงตัวว่า “ป้อมสองชั้น” น่าจะเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากลักษณะของปรางค์ประธานศิลาแลงที่ค่อนข้างสูง ปราสาทบันทายปีจวนเป็นปราสาทขอมเพียงแห่งเดียวที่สร้างอุทิศถวายแก่พระพรหม ขณะที่ปราสาทขอมอื่นๆ ส่วนใหญ่จะสร้างอุทิศถวายแก่พระศิวะ พระวิษณุ หรือพระพุทธเจ้า

ปราสาทบันทายปีจวน


5. ปราสาทนางเขม่า (Prasat Neang Khmau, ប្រាសាទនាងខ្មៅ “ปราสาทเนียงคเมา”)

ชื่อปราสาทแห่งนี้ มาจากคำว่า “เนียง” (“นาง” ในภาษาเขมร) และคำว่า “คเมา” (เขม่า ที่ภาษาเขมรแปลว่า “ดำ”) ชื่อปราสาทจึงแปลตรงตัวว่า “นางดำ” ซึ่งมาจากลักษณะผิวนอกของศิลาแลงที่ใช้ก่อตัวปราสาทที่มีสีดำอมน้ำเงิน

ปราสาทนางเขม่า

กรอบประตูและหน้าบันปราสาท

ส่วนตัวผมค่อนข้างชอบสีของปราสาทนางเขม่านะ ดูออกขรึมๆดี


6. ปราสาทปรำ (Prasat Pram, ប្រាសាទប្រាំ “ปราสาทปรำ”)

ชื่อปราสาทแห่งนี้ มาจากคำว่า “ปรำ” ที่แปลว่า “ห้า” ตามจำนวนอาคาร 5 หลังของปราสาทนี้ ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ที่อยู่ฐานเดียวกัน และบรรณาลัย (ห้องสมุด) ที่อยู่ซ้ายขวา อาคารบางแห่งของปราสาทหลังนี้ถูกรากต้นไม้ใหญ่เลื้อยพันอยู่ ขณะที่ “บรรณาลัย” ของปราสาทปรำมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบน ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์เสนอว่า อาคารดังกล่าวอาจใช้เป็นเมรุเผาศพ หรืออาจเป็น “ธรรมศาลา” (บ้านมีไฟ) อาคารที่ใช้จุดไฟไว้ข้างใน เพื่อใช้เป็นเพลิงศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบศาสนพิธี

ปราสาทปรำ

อาคารหลังหนึ่งในปราสาทที่ถูกรากไม้พันไว้

------------------------------------------------------
บทความตอนที่แล้วในชุดบทความ "จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ"

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป
http://nhoomthonburi.blogspot.com/2014/08/economical-traveller.html

ตอนที่ 2: แนะนำเมืองเสียมเรียบ วัดพระพรหมรัตน์ พระตำหนักหลวงและศาลองค์เจ็กองค์จอม
http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/05/economical-traveler.html 

ตอนที่ 3: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์, ตั๋ว Angkor Pass, ปราสาทพนมบาแคง และการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา http://nhoomthonburi.blogspot.com/2016/05/economical-traveler_29.html