วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (៦)


[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (6)

-------------------------------------


สำหรับช่วงสุดท้ายของวันที่ 2 ของทริป ยังเหลือกลุ่มโบราณสถานโรลัวะ ซึ่งมักบริเวณนี้ก็เคยเป็นราชธานีในอาณาจักรขอมในนาม “หริหราลัย” เช่นเดียวกับเกาะแกร์ (โฉกครรคยาร์) และนครวัด-นครธม (ยโศธรปุระ) เพียงแต่หริหราลัยแห่งนี้เก่าแก่กว่าอีกสองเมือง ลองมาทำความรู้จักเมืองเก่าแห่งนี้สักหน่อยครับ


หริหราลัย: หนึ่งในอดีตราชธานีแห่งอาณาจักรขอม


หริหราลัย (Hariharalaya, ហរិហរាល័) เป็นเมืองโบราณและเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรขอม ตั้งอยู่บนบริเวณ “โรลัวะ” (Rolous, ឃុំរលួ) ทางตะวันออกของเมืองเสียมเรียบ ซึ่งซากโบราณสถานในเมืองหริหราลัยเท่าที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน จะเป็นพวกวัดฮินดูขนาดใหญ่ ได้แก่ ปราสาทพระโค, ปราสาทบากอง และปราสาทโลเลย

แผนที่บริเวณโรลัวะ ที่มีทางหลวงหมายเลข 6 ตัดผ่านจากเมืองเสียมเรียบ แผนที่นี้แสดงปราสาทหลัก 3 แห่ง บารายอินทรฏฏะกะ (Indratataka Baray/Baray of Lolei) และปราสาทขอมขนาดเล็กแห่งอื่นๆอีก

ชื่อเมือง “หริหราลัย” นั้น มาจากชื่อของ “พระหริหระ” (Harihara) เทพในศาสนาฮินดูที่เป็นที่นับถือบูชากันมากในกัมพูชายุคก่อนอาณาจักรขอม ชื่อดังกล่าวเป็นคำประสมจากคำ “หริ” อวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ และ “หระ” อวตารปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งตามความเชื่อของชามกัมพูชาในสมัยโบราณนั้น พระหริหระเป็นเทพบุรุษที่ข้างหนึ่งมีลักษณะของพระวิษณุ ส่วนอีกข้างมีลักษณะของพระศิวะ

รูปวาดแสดงพระหริหระพร้อมโคนนทิ (ฝั่งพระศิวะ) และพญาครุฑ (ฝั่งพระวิษณุ)

ในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 8 เข้าต้นคริสตศตวรรษที่ 9 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 กษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรขอม ได้ปราบผู้มีอำนาจท้องถิ่นในแถบโตนเลสาบ (ทะเลาบเขมร) การก่อตั้งเมืองหริหราลัยขึ้นก็อยู่ในช่วงนั้น ร่วมสมัยกับ “มเหนทรบรรพต” (Mahendraparvata, មហេន្ទ្របវ៌) เมืองโบราณอีกแห่งที่เชิงเขาพนมกุเลน ซึ่งเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อท้องถิ่นในสมัยนั้น แต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ที่มเหนทรบรรพตในปี ค.ศ.802 ก่อนจะย้ายเมืองหลวงมายังหริหราลัย และสวรรคตลงในเมืองนี้เมื่อปี ค.ศ.835

แผนที่บริเวณเมืองเสียมเรียบ ที่นักวิจัยได้ใช้ระบบ LIDAR ซึ่งเป็นระบบประเมินความสูงต่ำของพื้นผิวหรือภูมิประเทศโดยอาศัยการสะท้อนแสงเลเซอร์ที่ยิงลงไป โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำเครื่องยิงและรับสัญญาณเลเซอร์ติดไปกับเฮลิคอปเตอร์ แล้วเครื่องนี้จะส่องกราดขณะบินอยู่เหนือพื้นที่ศึกษา ได้แก่ พื้นที่สีเหลือง เช่น บริเวณนครวัด-นครธม (Angkor) กับโรลัวะ (Rolous) ในปี ค.ศ.2012 และพื้นที่สีแดง ในปี ค.ศ.2015 จากการสำรวจพบลักษณะการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ดูมีลักษณะเป็นโครงข่ายคล้ายแผนที่ชุมชนเมือง บริเวณภูเขาพนมกุเลน (พื้นที่ที่พาดด้วยเส้นเฉียงสีขาวในแผนที่) ทำให้นักวิชาการต่างคาดการณ์ว่าอาจเป็นเมืองมเหนทรบรรพต [Credit: Damian Evans, 2016 http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0305440316300644 ]

พอล่วงเข้ารัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ทรงรับสั่งให้สร้างปราสาทพระโค (ปี ค.ศ.879) ปราสาทบากอง (ปี ค.ศ.881) และบารายอินทรฏฏะกะ (บารายคือสระน้ำที่ขุดขึ้น อาจมีจุดประสงค์ในเชิงศาสนาหรือการชลประทาน)

ในรัชกาลต่อมา พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (ครองราชย์ ค.ศ.889-910) ทรงให้สร้างปราสาทโลเลยบนเกาะที่ถมไว้กลางบารายอินทรฏฏะกะ และสร้างเมืองยโศธรปุระ บริเวณนครวัด-นครธมในปัจจุบัน มีศูนย์กลางเป็นภูเขาพนมบาแคงในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ แล้วย้ายราชธานีจากหริหราลัยไปยังยโสธรปุระ

สำหรับการเยี่ยมชมกลุ่มโบราณสถานโรลัวะของพวกผมนั้น เดินทางจากปราสาทบึงมาลาถึงโรลัวะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และเริ่มจากปราสาทโลเลย ปราสาทบากอง และปิดท้ายที่ปราสาทพระโค นอกจากนี้ ที่ปราสาทเหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว Angkor Pass ด้วย


ปราสาทโลเลย: อดีตปราสาทบนเกาะกลางน้ำแห่งเมืองหริหราลัย

ปราสาทโลเลย (Lolei, ប្រាសាទលល “ปราสาทโลลึย”) เป็นวัดฮินดูที่สร้างบนเกาะกลางบารายอินทรฏฏะกะ ซึ่งตื้นเขินไปหมดแล้วในปัจจุบัน นับเป็นปราสาทองค์สุดท้ายที่สร้างในเมืองหริหราลัยก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังยโศธรปุระ และปราสาทขอมองค์แรกที่สร้างบนเกาะกลางน้ำ เพื่อสื่อถึงการที่เขาพระสุเมรุอยู่กลางมหาสมุทร ตามความเชื่อเกี่ยวกับสัณฐานของโลกและจักรวาลในศาสนาฮินดู

ในจารึกกล่าวว่าปราสาทแห่งนี้ได้รับการอภิเศกในปี ค.ศ.893 ในรัชกาลพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 เพื่ออุทิศให้กับบรรพชนในราชวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยปราสาทประกอบด้วยปรางค์ที่แบ่งเป็น 2 แถว (ปรางค์อุทิศแก่บรรพชนฝ่ายชายและหญิง) เช่นเดียวกับปราสาทพระโค ส่วนชื่อ “โลเลย” ของปราสาทแห่งนี้อาจมาจากการเพี้ยนเสียงของชื่อเมืองหริหราลัย

ซากปรางค์ที่พังลงมาแล้ว แต่ยังมีรูปประดับรูปทวารบาลหลงเหลืออยู่

รูปประดับรูปทวารบาลสตรีในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างอวบหากเทียบกับมาตรฐานปัจจุบัน


ประตูหลอกที่สลักลวดลายบนบานประตูเลียนแบบการสลักลงบนไม้

หากสังเกตที่กรอบประตูของปรางค์ จะพบว่ามีจารึกอยู่ด้วย

ทับหลังที่สลักลวดลายไว้อย่างประณีต

รางน้ำที่ใช้ประกอบศาสนพิธีในสมัยโบราณ


ภายในพระอุโบสถวัดที่ปราสาทโลเลย


ปราสาทบากอง: พีระมิด “ศาสนบรรพต” แห่งแรกของขอม

ปราสาทบากอง (Bakong, ប្រាសាទបាគ “ปราสาทบากง”) เป็นวัดฮินดูในรูปแบบ “ศาสนบรรพต” (Temple mountain) และปราสาทที่สร้างด้วยหินทรายแห่งแรกในอาณาจักรขอม ปราสาทแห่งนี้อาจเริ่มสร้างด้วยศิลาแลงในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 3 ก่อนจะสร้างต่อด้วยหินทราย แล้วอุทิศถวายแก่พระศิวะ สถาปนาเป็นวัดหลวงแห่งเมืองหริหราลัย ประจำรัชกาลพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (ช่วงท้ายคริสตศตวรรษที่ 9) โดยมีจารึกกล่าวถึงการอภิเษกองค์ศิวลึงค์ประจำปราสาทแห่งนี้ว่าอยู่ในปี ค.ศ.881

โครงสร้างของปราสาทบากอง เป็นพีระมิดที่มีลักษณะเป็นชั้นๆ มักจะเรียกว่าเป็นรูปแบบ “ศาสนบรรพต” ในสถาปัตยกรรมศาสนสถานขอม ซึ่งชั้นพีระมิด 5 ชั้นร่วมกับรายละเอียดอื่นๆของปราสาทบากองสื่อถึง “เขาพระสุเมรุ” ศูนย์กลางจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

นอกจากนี้ นักวิชาการบางส่วนมองว่าลักษณะศาสนบรรพตของปราสาทบากอง รวมไปถึงรายละเอียดทางสถาปัตย์คล้ายกับบุโรพุทโธในเกาะชวา อินโดนีเซีย จึงมีแนวคิดคาดการณ์ว่าบุโรพุทโธอาจเป็นต้นแบบของปราสาทบากอง อันเป็นผลต่อเนื่องจากการติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างอาณาจักรขอมกับราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งชวา

แผนที่ปราสาทประธานของปราสาทบากองที่มีลักษณะศาสนบรรพต

แผนที่ปราสาทบากอง ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยปราสาทประธาน ปรางค์ราย 8 องค์ กำแพงแก้วที่มีซุ้มประตูโคปุระ 4 ทิศ [Credit: Timothy M Ciccone, Claude Jacques, Michael Freeman, & Jean Laur]

ตอนที่มาถึงปราสาทบากอง ฝนตกก็เริ่มตกหนักพอดี เลยหนีไปหลบฝนในศาลาแถวๆนั้น

พอฝนซาก็ได้จังหวะเข้าปราสาทบากอง


ฝนกลับมาตกหนักอีกรอบ เลยวิ่งมาหลบฝนใต้ชายคาพระอุโบสถวัดพุทธที่อยู่แถวๆนั้น แล้วถ่ายตัวปราสาทประธานไปก่อน

เดินไปยังปราสาทประธาน

มองไปทางตะวันออกของตัวปราสาท วัดพุทธที่สร้างภายหลังจะอยู่นอกกำแพงแก้วของปราสาท


ย่อมุมตรงมุมปรางค์บนยอดปราสาทประธานแกะสลักเป็นรูปทวารบาลสตรี    

ทางเดินขึ้นปราสาทก็ยังแกะสลักลวดลายไว้

หนึ่งในปรางค์รายที่อยู่โดยรอบปราสาทประธาน


ปราสาทพระโค: ปราสาทแรกเริ่มแห่งเมืองหริหราลัย

ปราสาทพระโค (Preah Ko, ប្រាសាទព្រះគោ “ปราสาทเปรียะฮ์โก”) เป็นวัดฮินดูแห่งแรกๆในเมืองหริหราลัย สร้างแล้วเสร็จราวปี ค.ศ.880 เพื่ออุทิศถวายแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว ช่วงรัชกาลพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 ชื่อ “พระโค” ของปราสาทแห่งนี้มาจากรูปสลักหินทรายรูปโคนนทิ โคเผือกพาหนะประจำพระองค์ของพระศิวะ ที่ตั้งอยู่ข้างพระปรางค์

ตัวอาคารหลักของปราสาทประกอบด้วยปรางค์สร้างจากอิฐดินเผาพร้อมลวดลายประดับ 6 องค์ วางตัวเป็น 2 แถว แถวละ 3 องค์ อยู่บนฐานหินทรายฐานเดียวกันและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ซึ่งปรางค์แถวหน้า 3 องค์สร้างอุทิศแก่บรรพชนฝ่ายชาย (ปรางค์องค์กลางแถวหน้าสร้างอุทิศเก่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้ก่อตั้งอาณาจักรขอม) และปรางค์แถวหลังสร้างอุทิศแก่บรรพชนฝ่ายหญิง ขณะที่รอบตัวปราสาทมีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมไว้ นอกจากนี้ นักวิชาการบางส่วนสันนิษฐานว่าพระราชวังโบราณแห่งหริหราลัยอาจตั้งอยู่บริเวณปราสาทพระโค แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานแต่อย่างใด

แผนที่ปราสาทพระโค ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีปราสาทประธาน (ประกอบด้วยปรางค์ 6 องค์) กำแพงแก้วที่มีซุ้มประตูโคปุระทิศตะวันออกและตะวันตก [Credit: Timothy M Ciccone, Claude Jacques, Michael Freeman, & Jean Laur]

ปราสาทพระโคท่ามกลางสายฝนพรำ ต้นไม้เขียวขจีช่วงฤดูฝนทำให้ปราสาทสวยไปอีกแบบ

รูปสลักโคนนทิตรงหน้าปราสาทประธาน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปราสาทแห่งนี้

รูปสลักรูปสิงห์ตรงปราสาทประธาน

ทับหลังหินทรายสลักรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย

ที่กรอบประตูของปรางค์มีจารึกอยู่ เช่นเดียวกับปราสาทโลเลย

รูปสลักรูปทวารบาลตรงมุมปรางค์



รูปสลักรูปทวารบาลสตรี

ปรางค์ 3 องค์แถวหลังของปราสาทประธาน

ลวดลายเหนือรูปสลักรูปทวารบาลบนผนังปรางค์    

หลังจากเยี่ยมชมปราสาทพระโคเสร็จ ก็นั่งรถแท้กซีมุ่งหน้ากลับเมืองเสียมเรียบ และจ่ายค่าเหมาแท็กซีทั้งวัน 75 USD (ไปกัน 3 คน ตกคนละ 25 USD) ส่วนอาหารเย็นก็หาทานตรงที่พัก ราคา 2 USD (ราคานี้มักเป็นพวกขนมปังฝรั่งเศสหรือข้าวแกงที่ตลาดในตัวเมือง)

-------------------------------------------------

บทความตอนที่แล้วในชุดบทความ “จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ”

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

ตอนที่ 2: แนะนำเมืองเสียมเรียบ วัดพระพรหมรัตน์ พระตำหนักหลวง และศาลองค์เจ็กองค์จอม

ตอนที่ 3: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์, ตั๋ว Angkor Pass, ปราสาทพนมบาแคง และการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา

ตอนที่ 4: เกาะแกร์-โฉกครรคยาร์ อดีตเมืองหลวงสั้นๆแห่งอาณาจักรขอม

ตอนที่ 5: บึงมาลา: ซากปราสาทขอมแบบดิบๆท่ามกลางป่าใหญ่