วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (៣)



[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (3)

-------------------------------------

วันแรกของทริป: ลุยเมืองเสียมเรียบ (ต่อ)

เดินไปไม่ไกลจากศาลองค์เจ็กองค์จอม ก็มาเรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์สักหน่อย


พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ (Angkor National Museum, សារមន្ទីរជាតិអង្គរ “ซาระเมือนตีเจียดอ็องโก”) เปิดให้บริการในปี ค.ศ.2007 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนของไทย เก็บรักษาและแสดงโบราณวัตถุของกัมพูชา รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมขอม โดยศิลปวัตถุโดยส่วนใหญ่ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นงานศิลปะยุคอาณาจักรขอม ช่วงคริสตศตวรรษที่ 9-14 ที่ค้นพบจากเมืองพระนครและบริเวณใกล้เคียง โดยศิลปวัตถุเหล่านี้ยืมมาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ และ “Conservation d’Angkor” คลังเก็บโบราณวัตถุขอมที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชา

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คนละ 12 USD แต่ถ้าหากต้องการหูฟังสำหรับคำบรรยาย (Audio guide) ต้องเสียเพิ่ม 3 USD โดยมีให้เลือก 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาเขมร, ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เกาหลี และจีน

ส่วนนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 8 ส่วน แต่เนื่องจากห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ จึงใช้รูปประกอบจากเวบไซต์ของทางพิพิธภัณฑ์ http://www.angkornationalmuseum.com/ แทน

- Briefing Hall: ห้องฉายภาพยนตร์แนะนำพิพิธภัณฑ์

- ห้องแสดงพระพุทธรูป 1,000 องค์: ห้องนิทรรศการนี้จะแสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธต่อชาวกัมพูชา ตั้งแต่ครั้งอารยธรรมขอมโบราณ จนถึงกัมพูชายุคปัจจุบัน

- ห้องนิทรรศการ A อารยธรรมขอม: อธิบายว่าอารยธรรมขอมเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ขอมโบราณสร้างอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ ความเชื่อต่อกษัตริย์ และประวัติศาสตร์ของขอม

- ห้องนิทรรศการ B ศาสนาและความเชื่อ: อธิบายเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของอารยธรรมขอม ที่ปรากฏในงานวรรณกรรม รูปสลัก สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต

 
- ห้องนิทรรศการ C กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งใหญ่: ห้องนิทรรศการแสดงประวัติของกษัตริย์ขอมองค์สำคัญ เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้ทรงรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเป็นหนึ่งเดียว ในช่วง ค.ศ.802-850, พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ผู้โปรดให้สร้างเมืองยโสธรปุระ (เมืองพระนคร) ในช่วงปี ค.ศ.889-900 เพื่อเป็นเมืองหลวงของขอม, พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้โปรดให้สร้างนครวัดขึ้นในช่วง ค.ศ.1116-1145, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้โปรดให้สร้างนครธมในช่วง ค.ศ.1181-1201

 
- ห้องนิทรรศการ D นครวัด: ห้องนิทรรศการแสดงประวัติ หลักการเชิงศาสนา และเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างนครวัด

- ห้องนิทรรศการ E นครธม: ห้องนิทรรศการเกี่ยวกับการก่อสร้างและขยายตัวของนครธม ความเปลี่ยนแปลงทางศาสนา แผนวิศวกรรมเพื่อใช้ในสาธารณูปโภคสมัยโบราณ เช่น ถนนและระบบชลประทานขนาดใหญ่

- ห้องนิทรรศการ F เรื่องราวจากก้อนหิน: ห้องแสดงหลักศิลาจารึก ที่ใช้บันทึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์

- ห้องนิทรรศการ G เครื่องแต่งกายโบราณ: นิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในสมัยขอมโบราณ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านลักษณะที่ปรากฏของรูปสลักรูปเทพ เทพี และนางอัปสรา

ค่าน้ำดื่มที่นี่ค่อนข้างแพง (ขวดเล็ก 500 ml ราคา 1 USD) และหากใครสนใจเรื่องราวแนวประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม อาจจะใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงยังคิดว่าไม่พอ

หลังเสร็จจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์แล้ว เหมารถตุ๊กตุ๊กจากหน้าพิพิธภัณฑ์ไปจุดขายตั๋ว Angkor Pass - ปราสาทพนมบาแคง และ Pub Street ได้ราคาที่ 10 USD


ตั๋ว Angkor Pass เป็นตั๋วสำหรับใช้เข้าโบราณสถานต่างๆ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์อังกอร์ ที่ครอบคลุมนครวัด-นครธม ไปจนถึงโบราณสถานโดยรอบ เช่น ปราสาทบันทายสรี กบาลสะเปียน (ธารน้ำที่มีกลุ่มรูปสลักใต้น้ำ) และกลุ่มปราสาทโรลัวะ แต่ไม่รวมโบราณสถานที่อยู่ไกลออกไปอีก อย่างพนมกุเลน, เกาะแกร์ และบึงมาลา

ตั๋ว Angkor Pass จะมี 3 แบบ ได้แก่
- 1 วัน ราคา 20 USD
- 3 วัน ราคา 40 USD
- 5 วัน ราคา 60 USD

ผมเลือกตั๋วแบบ 3 วัน ซึ่งตั๋วจะระบุว่าวันที่เริ่มใช้ตั๋วและวันที่ตั๋วหมดอายุห่างกัน 7 วัน ใน 7 วันนี้ จะใช้ตั๋ว 3 วันติดกัน หรือจะใช้วันเว้นวันก็ได้แล้วแต่นักท่องเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่ตามทางเข้าโบราณสถานแต่ละแห่งจะมาตรวจตั๋วตลอด ดังนั้น ถ้าทำตั๋วหายจะต้องซื้อใหม่เท่านั้น

จุดขายตั๋วเปิดปิด 5.30 - 17.30 น. ซึ่งหากมาซื้อตั๋วระหว่าง 17.00 - 17.30 น. ตั๋วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในวันซื้อ
(หมายความว่า สามารถชมปราสาทที่อยู่ใกล้ๆจุดขายตั๋ว ตอนเย็น
ได้ฟรี)

ตั๋ว Angkor Pass ที่ผมได้มา เขาจะถ่ายรูปที่จุดขายตั๋วแล้วพิมพ์ไปบนตั๋วเลย

คนตรวจตั๋วจะเจาะรูตามวันที่ที่เข้าเยี่ยมชม โดยดูจากวงกลมระบุวันที่

นครวัด โบราณสถานอีกแห่งที่อยู่ใกล้จุดขายตั๋ว แต่เพราะขนาดใหญ่ที่ใหญ่เกินจะเที่ยวชมในตอนเย็นได้หมด และตั้งใจจะมาในวันอื่นอยู่แล้ว เลยได้แต่ผ่านไป ก่อนจะมาถึงปราสาทอีกแห่งที่เป็นจุดหมายในเย็นนี้


ปราสาทพนมบาแคง (Phnom Bakheng, ប្រាសាទភ្នំបាខែង “ปราสาทพนุมบาแคง”) ถูกสร้างขึ้นประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ 9 - ต้นคริสตศตวรรษที่ 10 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู อุทิศแก่พระศิวะ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆสูงประมาณ 70 เมตร ปราสาทแห่งนี้เคยกล่าวถึงในศิลาจารึกว่า “ยโสธเรศวร” ส่วนชื่อ “พนมบาแคง” ถูกเรียกมาตั้งแต่ราวคริสตทศวรรษ 1930 การที่ปราสาทพนมบาแคงตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ จึงทำให้เป็นจุดชมวิวยามเย็นยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเสียมเรียบ

ปราสาทพนมบาแคงเป็นศูนย์กลางของกรุงยโศธรปุระ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งเป็นเมืองหลวงใหม่ ย้ายจากเมืองหลวงเดิม “หริหราลัย” (บริเวณกลุ่มปราสาทโรลัวะ) โดยกรุงยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) เป็นเมืองที่ถูกสร้างซ้อนทับกันในบริเวณเดิม เมืองที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งขึ้นเป็น “เมืองพระนครแห่งแรก” ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองยาวด้านละ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่านครธม ที่เป็น “เมืองพระนคร” ในรุ่นหลัง มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลาง


แผนที่จาก Google Map ในบริเวณ "เมืองยโสธรปุระ" (เมืองพระนคร) ทั้ง "ยโศธรปุระแห่งแรก" ที่มีศูนย์กลางที่พนมบาแคง และ "ยโศธรปุระแห่งที่ 2" (นครธม) ที่มีศูนย์กลางที่ปราสาทบายน (แผนที่อันล่างดัดแปลงโดยเจ้าของบล็อก)

ปราสาทพนมบาแคงถูกสร้างในลักษณะ “ศาสนบรรพต” (Temple Mountain) ซึ่งเป็นอาคารรูปร่างคล้ายพีระมิด มีฐานรูปสี่เหลี่ยมเป็นชั้นๆลดหลั่นกันขึ้นไป และมีปรางค์บริวารขนาดเล็กอยู่โดยรอบบนฐานแต่ละชั้น เช่นเดียวกับปราสาทบากอง ในกลุ่มปราสาทโรลัวะ ที่เก่าแก่กว่าปราสาทพนมบาแคงราว 2 ทศวรรษ

ลักษณะ “ศาสนบรรพต” ยังสื่อถึงแนวความคิดเชิงจักรวาลวิทยาของฮินดูด้วย โดยปราสาทแห่งนี้มีเจ็ดชั้น ตาม “สัตตบริภัณฑ์คีรี” เทือกเขา 7 ชั้น ได้แก่ ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ภูเขาที่เป็นหลักของโลกและศูนย์กลางจักรวาลตามความเชื่อของทางฮินดู

ขณะที่ปรางค์บริวารโดยรอบ 108 องค์ (ปรางค์รายที่พื้นชั้นล่างสุด 44 องค์ ปรางค์รายบนฐานรูปสี่เหลี่ยม (ชั้น 2-6) 60 องค์ และปรางค์รายรอบปรางค์ประธานชั้นบนสุด 4 องค์) ซึ่งนักโบราณคดีเสนอแนวคิดว่า จำนวนของปรางค์บริวารดังกล่าวมีอาจมีความหมายในเชิงดาราศาสตร์

- จำนวนปรางค์รายทั้งหมด 108 องค์: 108 เป็นผลคูณระหว่าง 27 (จำนวนวันใน 1 เดือนดาราคติ (ดวงจันทร์โคจรกลับมาปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวราศีเดิม)) และ 4 (เฟสของดวงจันทร์ 4 ช่วง คือ จันทร์ดับ ข้างขึ้น จันทร์เพ็ญ และข้างแรม)

- จำนวนปรางค์รายบนฐานรูปสี่เหลี่ยม (ชั้น 2-6) ชั้นละ 12 องค์: อาจสื่อถึงกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 ในดาราศาสตร์อินเดีย, ปีนักษัตรทั้ง 12 ปีของจีน หรือคาบการโคจรของดาวพฤหัสบดีที่ใช้เวลา 12 ปีถึงจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบ

 แผนที่แสดงทางขึ้นเนินเขาพนมบาแคง มีทั้งทางเดินเท้า และทางเดินสำหรับขี่ช้างขึ้นไป (หากจะขี่ช้างต้องเสียเงินเพิ่ม)

เนื่องจากพนมบาแคงมีชื่อเสียงในฐานะจุดชมวิวยามเย็น นักท่องเที่ยวที่นี่เลยเยอะ

...และเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนสักครึ่งหนึ่ง (ประมาณโดยสายตา)

เจ้าหน้าที่เฝ้าโบราณสถานบนพนมบาแคง หากท้องฟ้าเริ่มมืดแล้ว เขาจะเริ่มเชิญให้นักท่องเที่ยวลงไปจากพนมบาแคง 

ศิวลึงค์ในปรางค์รายที่พังไปแล้ว

มองไปแถวขอบฟ้าทางใต้ เห็นวิวเมืองเสียมเรียบอยู่ไกลๆ

ลวดลายประดับกรอบประตูของปรางค์ คิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่บูรณะใหม่ (สังเกตจากสีที่อ่อนกว่า ส่วนที่สีคล้ำกว่าน่าจะเป็นของเก่า)

รูปนางอัปสราที่ผนังปรางค์บนชั้น 7 ของพนมบาแคง ถ้าซูมรูปเข้าไปจะเห็นริ้วที่หน้าท้อง และรอยกระสุนปืนครั้งสงครามกลางมือตรงเหนือหน้าอก


อีกหนึ่งมุมมหาชน ที่นักท่องเที่ยวไปมุงถ่ายภาพกัน

ผมก็ถ่ายภาพตรงมุมมหาชนอีกคน จากตรงนี้ เห็นนครวัดดูเหมือนจะอยู่กลางป่าเลยทีเดียว


ปรางค์รายตามฐานรูปสี่เหลี่ยมแต่ละชั้นของปราสาทพนมบาแคง


หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ก็รีบเดินลงเนินเขา เพราะทางเดินไม่มีแสงไฟบอกทาง และกลับมาที่ Pub Street ในตัวเมืองเสียมเรียบ Pub Street ก็มีลักษณะตามชื่อ คือเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร ผับ บาร์ที่เปิดยามค่ำคืน และยังมีพวกร้านของตัวแทนจำหน่ายทัวร์

สาเหตุที่มาที่นี่ นอกจากมาหาอาหารเย็นกินแล้ว อีกส่วนหนึ่งเพราะร้านอาหารที่เล็งไว้ มีดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาเคล้าอาหารมื้อเย็นให้ชม แม้แต่บางร้านก็มีการแสดงการต่อสู้พื้นบ้านด้วย

สำหรับรายชื่อคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงละครที่มีการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา พร้อมข้อมูลประกอบ (ราคา, รูปแบบการแสดง-อาหาร วัน-เวลาที่มีการแสดง ระยะเวลาในการแสดง) สามารถดูได้ที่ลิงก์นี้ http://tourinsiemreap.com/guide/apsara-dance-dinner-show-siem-reap/


ผมเลือกร้าน Temple Balcony ตรงที่มีดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาฟรี ระยะการแสดงนานที่สุด (2 ชั่วโมง 19:30-21:30 น.) แต่ชั้นล่างของร้านจะแสดงชื่อ Temple Club แทน ทำให้หลงบ้างเล็กน้อย


 สั่ง Temple's Set ของทางร้าน ประกอบด้วยอาม็อก (เนื้อปลานึ่งกับพริกแกง คล้ายๆ ห่อหมก) แกงกะหรี่ไก่ ปอเปี๊ยะทอด ข้าวเปล่า 1 ชาม ซึ่งเป็นเซ็ตสำหรับ 1 คน ราคา 14 USD แต่เพราะเห็นว่าแพงไป และดูจากปริมาณแล้ว สามารถเป็น "กับข้าวส่วนกลาง" สำหรับพวกผมได้ จึงสั่งข้าวเปล่าเพิ่ม 2 จาน จานละ 0.5 USD รวมเป็น 3 คน 15 USD

สำหรับดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาของทางร้าน มีลำดับตามนี้


- 19:30-19:50 บรรเลงดนตรีพื้นบ้าน
- 19:50-20:00 ระบำอวยพร




- 20:03-20:11 ระบำกะลา


คลิปตัวอย่างระบำกะลาในภาพยนตร์กัมพูชา ปี ค.ศ.1969 ก่อนยุคเขมรแดงครองเมือง

- 20:16-20:30 ระบำอัปสรา







คลิปตัวอย่างส่วหนหนึ่งของระบำอัปสราที่นครวัด

- 20:33-20:41 ระบำนกยูงไพลิน



คลิปตัวอย่างของระบำนกยูงไพลิน

- 20:44-20:54 ระบำพระรามพระลักษมณ์



- 20:57-21:06 ระบำหาปลา



คลิปตัวอย่างของระบำหาปลา

- 21:06-21:16 ช่วงเวลาเปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมถ่ายรูปในนักแสดงระบำอัปสรา
- 21:16-21:30 บรรเลงดนตรีพื้นบ้าน


สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา ผมขอแนะนำให้ไปอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมจากบทความ “นาฏศิลป์กัมพูชา” โดยคุณชัยวัฒน์ เสาทอง ในวารสารศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 http://info.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0609010548


-------------------------------------

แหล่งข้อมูลเรื่องปราสาทพนมบาแคง

- หนังสือ The Treasures of Angkor โดย Marilia Albanese
- หนังสือ Ancient Angkor โดย Michael Freeman & Claude Jacques

บทความตอนที่แล้วในชุดบทความ "จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ"

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

ตอนที่ 2: แนะนำเมืองเสียมเรียบ วัดพระพรหมรัตน์ พระตำหนักหลวงและศาลองค์เจ็กองค์จอม





วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (២)



[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (2)

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

-------------------------------------

เมืองเสียมเรียบ: จากหมู่บ้านเล็กๆ มาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของกัมพูชา

ก่อนอื่นคงต้องขอเล่าเท้าความถึงเมืองเสียมเรียบ เพื่อทำความรู้จักเมืองนี้สักหน่อยครับ

ชื่อของเมืองนี้ จะมีอยู่ 2 ชื่อคือ

- “เสียมราฐ” (ที่บางแหล่งแปลว่า “สยามชนะ” หรืออีกส่วนหนึ่งแปลว่า “รัฐของสยาม”) ซึ่งเป็นชื่อที่ไทยใช้เรียก

- “เสียมเรียบ” แปลว่า “สยามแพ้ราบเรียบ” เป็นชื่อที่กัมพูชาและประเทศอื่นๆเรียก มีสมมติฐานว่าชื่อ “เสียมเรียบ” อาจมีที่มาจากสมัยอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (สยาม) และพระบรมราชาที่ 2 (กัมพูชา) ที่สยามยกทัพบุกกัมพูชาแต่ก็พ่ายแพ้ โดยสมรภูมิอยู่ใกล้เคียงกับเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) ในบล็อกนี้จะเรียกชื่อนี้ตามแบบสากล

สยามได้ผนวกดินแดนบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) เรียกว่า “เขมรส่วนใน” ได้แก่ บัตตัมบอง ศรีโสภณ เสียมเรียบ มาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ช่วงปี ค.ศ.1795-1907 (สมัยรัตนโกสินทร์)

เมื่ออองรี มูโอ (Henri Mouhot) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้สำรวจนครวัด ในปี ค.ศ.1860 เสียมเรียบในช่วงนั้นยังเป็นหมู่บ้าน จากนั้น “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ” (École française d'Extrême-Orient (EFEO) สถาบันการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมในย่านเอเชียตะวันออกไปจนถึงเอเชียใต้) ก็ส่งคณะนักสำรวจเข้ามายังสยามเพื่อไปยังเมืองพระนคร แผ้วถางป่าที่ปกคลุมและซ่อมแซมโบราณสถาน รวมถึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังเมืองพระนคร


ภาพของเสียมเรียบในช่วงปี ค.ศ.1910 จากโปสการ์ดของฝรั่งเศส

การเผยโฉมเมืองพระนครสู่โลกภายนอก จะเป็นตัวพลิกโชคชะตาของเสียมเรียบที่อยู่ทางใต้ของเมืองพระนครไม่กี่กิโลเมตร

เมื่อฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดน “เขมรตอนใน” แล้วในปี ค.ศ.1907 เสียมเรียบได้ขยายตัวจากหมู่บ้านกลายเป็นชุมชนเมือง โดยฝรั่งเศสเปิดโรงแรมระดับหรูหราแห่งแรกขึ้นที่เสียมเรียบในปี ค.ศ.1929 และกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนครก็เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ยอดนิยมในเอเชีย จนกระทั่งคริสตทศวรรษ 1960 หลังกัมพูชาได้รับเอกราชแล้ว

กลุ่มคอมมิวนิสต์เขมรแดงได้ปกครองกัมพูชาในปี ค.ศ.1975 ชาวเมืองเสียมเรียบก็โดนขับออกไปใช้ชีวิตกรรมชีพในชนบท เช่นเดียวกับชาวกัมพูชาทั่วประเทศ เมืองเสียมเรียบจึงผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายไม่ต่างจากกรุงพนมเปญ จนกระทั่งเขมรแดงหมดอำนาจลง และพอล พต ผู้นำเขมรแดงเสียชีวิตในปี ค.ศ.1998 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเสียมเรียบค่อยกลับมาพลิกฟื้นขึ้นมา

เมืองเสียมเรียบในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ “เมืองพระนคร” (นครวัด-นครธม) ในด้านการท่องเที่ยว เต็มไปด้วยโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างพิพิธภัณฑ์ พื้นที่การแสดงรำอัปสรา หมู่บ้านวัฒนธรรม ร้านขายของที่ระลึก ขณะที่อาคารสถาปัตย์แบบโคโลเนียลครั้งฝรั่งเศสปกครอง ยังหลงเหลือมีอยู่ในบริเวณ “พซาจะ” (ตลาดเก่า) แต่เมื่อออกไปนอกเมืองเสียมเรียบจะมีแต่ทุ่งนาปลูกข้าว หรือหมู่บ้านประมงในโตนเลสาบ

การท่องเที่ยวถือว่าเป็น “เครื่องจักรใหญ่” คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเสียมเรียบ โดยมีการประมาณในปี ค.ศ.2010 ว่าตำแหน่งงานเกิน 50% ในเมืองเสียมเรียบ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ในปี ค.ศ.2004 ประมาณครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในกัมพูชา มีเป้าหมายที่เมืองเสียมเรียบ

-------------------------------------

วันแรกของทริป: ลุยเมืองเสียมเรียบ

10 ก.ค. 2014 เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังเสียมเรียบด้วยสายการบินแอร์เอเชีย

อาคารผู้โดยสารสนามบินเสียมเรียบ สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในกัมพูชา (ข้อมูลปี ค.ศ.2015 สนามบินเสียมเรียบ 3.30 ล้านคน สนามบินพนมเปญ 3.08 ล้านคน) โดยมีเที่ยวบินไปประเทศอื่นๆในแถบ ASEAN และเอเชียตะวันออกเท่านั้น

ที่ ตม.สนามบิน เห็นเจ้าหน้าที่ ตม.บูธข้างๆมีเรียกค่าทิป 1 USD ด้วย แต่ส่วนตัวไม่โดน แสดงว่าขึ้นกับ ตม.แต่ละคน

ผ่าน ตม.เสร็จไปทางออก คนขายซิมมือถือก็เรียกหากันดังสนั่น เลยใช้วิธี “จ้ำจี้มะเขือเปาะแปะ” พยางค์สุดท้ายแล้วนิ้วชี้เจ้าไหนก็ซื้อซิมเจ้านั้น (แถมเขาหัวเราะอีก) ได้ซิมเครือ Beeline ราคา 5 USD

ทางเกสเฮาส์ส่งรถตุ๊กตุ๊กมารับที่สนามบินฟรี แต่รถตุ๊กตุ๊กที่เสียมเรียบจะเป็นรถจักรยานมนต์ต่อรถเลื่อน 2 ล้อ นั่งได้ประมาณ 3-4 คน ต่างจากรถตุ๊กตุ๊กของไทยที่เป็นรถเครื่อง 3 ล้อ


สภาพห้องพักแบบ 3 คน พร้อมแอร์ ของที่พักที่จองไว้ (Tropical Breeze Guesthouse)

เช็คอินเข้าที่พัก จัดการข้าวของเสร็จก็ออกมาหาข้าวเที่ยงแถวพซาจะ ข้าวแกงกับข้าวอย่างเดียวราคา 60 บาท ตามแผนแล้ววันนี้จะเดินเที่ยวในตัวเมืองเสียมเรียบ แล้วไปดูดวงอาทิตย์ตกที่ปราสาทพนมบาแคง


จากร้านหนังสือมือสอง และรถขายหนังสือแถวพซาจะ ได้หนังสือนำเที่ยวภาษาอังกฤษมา 2 เล่ม ตกราคา 8-10 USD ด้วยราคาที่ถูกและสันกาวของหนังสือไม่ค่อยดี เลยสงสัยว่าหากไม่เป็นหนังสือมือสองก็คงเป็นของก็อบ

จากแถวพซาจะ เดินเลียบแม่น้ำเสียมเรียบ (ซึ่งกว้างประมาณคูเมืองเชียงใหม่) ก็ถึงจุดหมายแรก


วัดพระพรหมรัตน์ (វត្តព្រះព្រហ្មរ័ត្ “วัดเปรียะฮ์ปรมรวด”) เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมืองเสียมเรียบ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1371 เพื่ออุทิศแก่พระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพ และครอบครัวเศรษฐี (ตาปูมและยายรัตน์) ในบริเวณเสียมเรียบสมัยนั้น ใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ธรรมะให้แก่ชาวบ้าน สักการะบรรพบุรุษ และที่พำนักของพระสงฆ์ในเสียมเรียบ

ต่อมา เมื่อกษัตริย์กัมพูชา (พระบรมราชาที่ 2 หรือนักองจัน) ได้เสด็จมาที่วัดนี้เพื่ออธิษฐานให้ได้รับชัยชนะเหนือข้าศึก (น่าจะหมายถึงสยาม) เมื่อเป็นไปตามที่อธิษฐาน พระองค์จึงโปรดให้ชื่อวัดว่า “ตาปูมเยียรวด” (ตาปูมยายรัตน์) จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “เปรียะฮ์ปรมรวด” (พระพรหมรัตน์) ในช่วงคริสตทศวรรษ 1940

วัดนี้ยังมีตำนานหนึ่งที่เกี่ยวข้องอีก แต่ตำนานนี้เป็นเรื่องของหลวงพ่อที่วัดนี้ถูกสร้างอุทิศให้

ในทุกๆวัน หลวงพ่อพายเรือข้ามโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) จากเสียมเรียบไปเมืองลงแวก (“เมืองละแวก” ตามที่ไทยเรียก) ในช่วงเช้าเพื่อออกบิณฑบาต ก่อนจะพายเรือกลับมาให้ทันมื้อเพลที่เสียมเรียบ (แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสียมเรียบกับลงแวกอยู่ห่างกันเกือบ 300 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 2 วันหากเดินทางด้วยเรือในสมัยนั้น)  

แต่แล้วในวันหนึ่ง เรือของหลวงพ่อก็ถูกฉลามเข้าชนจนขาดเป็นสองท่อน หลวงพ่อยึดท่อนหน้าของเรือจนไปถึงเสียมเรียบ ขณะที่ส่วนท้ายเรือลอยไปยังเมืองบริบูรณ์ ทางตอนใต้ของโตนเลสาบ ส่วนหน้าของเรือลอยเหนือโตนเลสาบอย่างรวดเร็วจนน้ำไม่สามารถเข้ามาได้ ชาวบ้านคิดว่าเป็นเพราะพระพุทธเจ้าคุ้มครองหลวงพ่อไว้ จึงสร้างวัดแห่งนี้ไว้ตรงที่เรือมาถึงเสียมเรียบ

[แหล่งอ้างอิงของตำนานวัดพระพรหมรัตน์ เมืองเสียมเรียบ: http://www.siemreappost.com/preah-prohm-rath/ ]

แผนที่แสดงเมือง 3 เมืองในตำนานเรือพายของหลวงพ่อวัดพระพรหมรัตน์ ได้แก่ เสียมเรียบกับบริบูรณ์ที่อยู่คนละฟากของโตนเลสาบ และเมืองลงแวก (ละแวก) ซึ่งบริบูรณ์กับละแวกนั้น ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำปงชนัง

อนุสรณ์รูปเรือพายในวัดแห่งนี้คงจะเกี่ยวข้องกับตำนานฉบับหลังนี้

อนุสรณ์ภายในวัดพระพรหมรัตน์ เป็นรูปเรือพายมีรูปพระสงฆ์ยืนอยู่ที่ส่วนหน้าของเรือ

แม้วัดนี้จะตั้งขึ้นมาหลายร้อยปี แต่อาคารทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่เหลือสิ่งก่อสร้างสมัยโบราณเหลือแล้ว

ระเบียงคดรอบวิหารหลัก มีรูปเกี่ยวกับพุทธประวัติ แตกต่างจากตามวัดหลวงในไทย ที่มักประดิษฐานพระพุทธหลายองค์เรียงรายไปตามระเบียงคด

พระประธานในวิหารวัดพระพรหมรัตน์



เจดีย์ด้านขวาในรูปนี้ แม้ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงย่อมุมคล้ายแบบไทย แต่ก็นำศิลปะขอมมาดัดแปลงประยุกต์เข้าไป อย่างกรอบประตูเล็กๆประดับเจดีย์ดัดแปลงมาจากกรอบประตูตามปราสาทขอม

“พ.ศ.2550 - ค.ศ.2006” ที่แสดงบนกำแพงวัด แสดงว่าพุทธศักราชของกัมพูชาและพม่า จะเริ่มนับในปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่พุทธศักราชของไทยจะเริ่มรับหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี ปี พ.ศ.ของกัมพูชาจึงล้ำหน้ากว่าของไทยไป 1 ปี นอกจากนี้ กัมพูชาก็ใช้ตัวเลขแบบเดียวกับเลขไทยด้วย

จากวัดพระพรหมรัตน์ก็เดินเลียบแม่น้ำเสียมเรียบต่อ

ช่วงที่พวกผมไปเสียมเรียบ เป็นช่วงที่มีรัฐพิธีแห่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาไปประดิษฐานที่เจดีย์เงินในพระราชวัง จึงเห็นแผ่นป้ายเกี่ยวกับงานนี้กระจายอยู่ในเมือง

พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ยามเสด็จแปรพระราชฐานมายังเสียมเรียบ

ศาลองค์เจ็กองค์จอม ซึ่งคล้ายศาลหลักเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เจ็ก-องค์จอม ซึ่งชาวเมืองถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ศาลแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1990

พระพุทธรูปคู่ภายในศาลองค์เจ็กองค์จอม องค์ที่สูงกว่าคือองค์เจ็ก

โรงแรม Grand Hotel d’Angkor โรงแรมหรูหราแห่งแรกในเมืองเสียมเรียบ ซึ่งฝรั่งเศลสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ตามมาตรฐานในสมัยนั้นขึ้นในอินโดจีนฝรั่งเศส 5 แห่ง โดยโรงแรมนี้ถูกสร้างในเมืองเสียมเรียบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมนครวัด-นครธม ที่เริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และเปิดให้บริการในปี ค.ศ.1932

พระตำหนักกษัตริย์กัมพูชา-ศาลองค์เจ็กองค์จอม-โรงแรม Grand Hotel d’Angkor กระจุกตัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน


-------------------------------------
[ซีรีส์ “จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ” ยังมีตอนต่อไปครับ]