วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (២)



[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (2)

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

-------------------------------------

เมืองเสียมเรียบ: จากหมู่บ้านเล็กๆ มาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับ 1 ของกัมพูชา

ก่อนอื่นคงต้องขอเล่าเท้าความถึงเมืองเสียมเรียบ เพื่อทำความรู้จักเมืองนี้สักหน่อยครับ

ชื่อของเมืองนี้ จะมีอยู่ 2 ชื่อคือ

- “เสียมราฐ” (ที่บางแหล่งแปลว่า “สยามชนะ” หรืออีกส่วนหนึ่งแปลว่า “รัฐของสยาม”) ซึ่งเป็นชื่อที่ไทยใช้เรียก

- “เสียมเรียบ” แปลว่า “สยามแพ้ราบเรียบ” เป็นชื่อที่กัมพูชาและประเทศอื่นๆเรียก มีสมมติฐานว่าชื่อ “เสียมเรียบ” อาจมีที่มาจากสมัยอยุธยาตอนกลาง ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (สยาม) และพระบรมราชาที่ 2 (กัมพูชา) ที่สยามยกทัพบุกกัมพูชาแต่ก็พ่ายแพ้ โดยสมรภูมิอยู่ใกล้เคียงกับเมืองพระนคร (นครวัด-นครธม) ในบล็อกนี้จะเรียกชื่อนี้ตามแบบสากล

สยามได้ผนวกดินแดนบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) เรียกว่า “เขมรส่วนใน” ได้แก่ บัตตัมบอง ศรีโสภณ เสียมเรียบ มาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ช่วงปี ค.ศ.1795-1907 (สมัยรัตนโกสินทร์)

เมื่ออองรี มูโอ (Henri Mouhot) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้สำรวจนครวัด ในปี ค.ศ.1860 เสียมเรียบในช่วงนั้นยังเป็นหมู่บ้าน จากนั้น “สำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ” (École française d'Extrême-Orient (EFEO) สถาบันการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมในย่านเอเชียตะวันออกไปจนถึงเอเชียใต้) ก็ส่งคณะนักสำรวจเข้ามายังสยามเพื่อไปยังเมืองพระนคร แผ้วถางป่าที่ปกคลุมและซ่อมแซมโบราณสถาน รวมถึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามายังเมืองพระนคร


ภาพของเสียมเรียบในช่วงปี ค.ศ.1910 จากโปสการ์ดของฝรั่งเศส

การเผยโฉมเมืองพระนครสู่โลกภายนอก จะเป็นตัวพลิกโชคชะตาของเสียมเรียบที่อยู่ทางใต้ของเมืองพระนครไม่กี่กิโลเมตร

เมื่อฝรั่งเศสได้ปกครองดินแดน “เขมรตอนใน” แล้วในปี ค.ศ.1907 เสียมเรียบได้ขยายตัวจากหมู่บ้านกลายเป็นชุมชนเมือง โดยฝรั่งเศสเปิดโรงแรมระดับหรูหราแห่งแรกขึ้นที่เสียมเรียบในปี ค.ศ.1929 และกลุ่มโบราณสถานเมืองพระนครก็เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ยอดนิยมในเอเชีย จนกระทั่งคริสตทศวรรษ 1960 หลังกัมพูชาได้รับเอกราชแล้ว

กลุ่มคอมมิวนิสต์เขมรแดงได้ปกครองกัมพูชาในปี ค.ศ.1975 ชาวเมืองเสียมเรียบก็โดนขับออกไปใช้ชีวิตกรรมชีพในชนบท เช่นเดียวกับชาวกัมพูชาทั่วประเทศ เมืองเสียมเรียบจึงผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายไม่ต่างจากกรุงพนมเปญ จนกระทั่งเขมรแดงหมดอำนาจลง และพอล พต ผู้นำเขมรแดงเสียชีวิตในปี ค.ศ.1998 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเสียมเรียบค่อยกลับมาพลิกฟื้นขึ้นมา

เมืองเสียมเรียบในปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นประตูสู่ “เมืองพระนคร” (นครวัด-นครธม) ในด้านการท่องเที่ยว เต็มไปด้วยโรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างพิพิธภัณฑ์ พื้นที่การแสดงรำอัปสรา หมู่บ้านวัฒนธรรม ร้านขายของที่ระลึก ขณะที่อาคารสถาปัตย์แบบโคโลเนียลครั้งฝรั่งเศสปกครอง ยังหลงเหลือมีอยู่ในบริเวณ “พซาจะ” (ตลาดเก่า) แต่เมื่อออกไปนอกเมืองเสียมเรียบจะมีแต่ทุ่งนาปลูกข้าว หรือหมู่บ้านประมงในโตนเลสาบ

การท่องเที่ยวถือว่าเป็น “เครื่องจักรใหญ่” คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเสียมเรียบ โดยมีการประมาณในปี ค.ศ.2010 ว่าตำแหน่งงานเกิน 50% ในเมืองเสียมเรียบ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขณะที่ในปี ค.ศ.2004 ประมาณครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในกัมพูชา มีเป้าหมายที่เมืองเสียมเรียบ

-------------------------------------

วันแรกของทริป: ลุยเมืองเสียมเรียบ

10 ก.ค. 2014 เดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังเสียมเรียบด้วยสายการบินแอร์เอเชีย

อาคารผู้โดยสารสนามบินเสียมเรียบ สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินที่มีผู้โดยสารมากที่สุดในกัมพูชา (ข้อมูลปี ค.ศ.2015 สนามบินเสียมเรียบ 3.30 ล้านคน สนามบินพนมเปญ 3.08 ล้านคน) โดยมีเที่ยวบินไปประเทศอื่นๆในแถบ ASEAN และเอเชียตะวันออกเท่านั้น

ที่ ตม.สนามบิน เห็นเจ้าหน้าที่ ตม.บูธข้างๆมีเรียกค่าทิป 1 USD ด้วย แต่ส่วนตัวไม่โดน แสดงว่าขึ้นกับ ตม.แต่ละคน

ผ่าน ตม.เสร็จไปทางออก คนขายซิมมือถือก็เรียกหากันดังสนั่น เลยใช้วิธี “จ้ำจี้มะเขือเปาะแปะ” พยางค์สุดท้ายแล้วนิ้วชี้เจ้าไหนก็ซื้อซิมเจ้านั้น (แถมเขาหัวเราะอีก) ได้ซิมเครือ Beeline ราคา 5 USD

ทางเกสเฮาส์ส่งรถตุ๊กตุ๊กมารับที่สนามบินฟรี แต่รถตุ๊กตุ๊กที่เสียมเรียบจะเป็นรถจักรยานมนต์ต่อรถเลื่อน 2 ล้อ นั่งได้ประมาณ 3-4 คน ต่างจากรถตุ๊กตุ๊กของไทยที่เป็นรถเครื่อง 3 ล้อ


สภาพห้องพักแบบ 3 คน พร้อมแอร์ ของที่พักที่จองไว้ (Tropical Breeze Guesthouse)

เช็คอินเข้าที่พัก จัดการข้าวของเสร็จก็ออกมาหาข้าวเที่ยงแถวพซาจะ ข้าวแกงกับข้าวอย่างเดียวราคา 60 บาท ตามแผนแล้ววันนี้จะเดินเที่ยวในตัวเมืองเสียมเรียบ แล้วไปดูดวงอาทิตย์ตกที่ปราสาทพนมบาแคง


จากร้านหนังสือมือสอง และรถขายหนังสือแถวพซาจะ ได้หนังสือนำเที่ยวภาษาอังกฤษมา 2 เล่ม ตกราคา 8-10 USD ด้วยราคาที่ถูกและสันกาวของหนังสือไม่ค่อยดี เลยสงสัยว่าหากไม่เป็นหนังสือมือสองก็คงเป็นของก็อบ

จากแถวพซาจะ เดินเลียบแม่น้ำเสียมเรียบ (ซึ่งกว้างประมาณคูเมืองเชียงใหม่) ก็ถึงจุดหมายแรก


วัดพระพรหมรัตน์ (វត្តព្រះព្រហ្មរ័ត្ “วัดเปรียะฮ์ปรมรวด”) เป็นวัดที่อยู่ใจกลางเมืองเสียมเรียบ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1371 เพื่ออุทิศแก่พระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพ และครอบครัวเศรษฐี (ตาปูมและยายรัตน์) ในบริเวณเสียมเรียบสมัยนั้น ใช้เป็นพื้นที่เผยแพร่ธรรมะให้แก่ชาวบ้าน สักการะบรรพบุรุษ และที่พำนักของพระสงฆ์ในเสียมเรียบ

ต่อมา เมื่อกษัตริย์กัมพูชา (พระบรมราชาที่ 2 หรือนักองจัน) ได้เสด็จมาที่วัดนี้เพื่ออธิษฐานให้ได้รับชัยชนะเหนือข้าศึก (น่าจะหมายถึงสยาม) เมื่อเป็นไปตามที่อธิษฐาน พระองค์จึงโปรดให้ชื่อวัดว่า “ตาปูมเยียรวด” (ตาปูมยายรัตน์) จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “เปรียะฮ์ปรมรวด” (พระพรหมรัตน์) ในช่วงคริสตทศวรรษ 1940

วัดนี้ยังมีตำนานหนึ่งที่เกี่ยวข้องอีก แต่ตำนานนี้เป็นเรื่องของหลวงพ่อที่วัดนี้ถูกสร้างอุทิศให้

ในทุกๆวัน หลวงพ่อพายเรือข้ามโตนเลสาบ (ทะเลสาบเขมร) จากเสียมเรียบไปเมืองลงแวก (“เมืองละแวก” ตามที่ไทยเรียก) ในช่วงเช้าเพื่อออกบิณฑบาต ก่อนจะพายเรือกลับมาให้ทันมื้อเพลที่เสียมเรียบ (แต่ในความเป็นจริงแล้ว เสียมเรียบกับลงแวกอยู่ห่างกันเกือบ 300 กิโลเมตร ต้องใช้เวลา 2 วันหากเดินทางด้วยเรือในสมัยนั้น)  

แต่แล้วในวันหนึ่ง เรือของหลวงพ่อก็ถูกฉลามเข้าชนจนขาดเป็นสองท่อน หลวงพ่อยึดท่อนหน้าของเรือจนไปถึงเสียมเรียบ ขณะที่ส่วนท้ายเรือลอยไปยังเมืองบริบูรณ์ ทางตอนใต้ของโตนเลสาบ ส่วนหน้าของเรือลอยเหนือโตนเลสาบอย่างรวดเร็วจนน้ำไม่สามารถเข้ามาได้ ชาวบ้านคิดว่าเป็นเพราะพระพุทธเจ้าคุ้มครองหลวงพ่อไว้ จึงสร้างวัดแห่งนี้ไว้ตรงที่เรือมาถึงเสียมเรียบ

[แหล่งอ้างอิงของตำนานวัดพระพรหมรัตน์ เมืองเสียมเรียบ: http://www.siemreappost.com/preah-prohm-rath/ ]

แผนที่แสดงเมือง 3 เมืองในตำนานเรือพายของหลวงพ่อวัดพระพรหมรัตน์ ได้แก่ เสียมเรียบกับบริบูรณ์ที่อยู่คนละฟากของโตนเลสาบ และเมืองลงแวก (ละแวก) ซึ่งบริบูรณ์กับละแวกนั้น ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกำปงชนัง

อนุสรณ์รูปเรือพายในวัดแห่งนี้คงจะเกี่ยวข้องกับตำนานฉบับหลังนี้

อนุสรณ์ภายในวัดพระพรหมรัตน์ เป็นรูปเรือพายมีรูปพระสงฆ์ยืนอยู่ที่ส่วนหน้าของเรือ

แม้วัดนี้จะตั้งขึ้นมาหลายร้อยปี แต่อาคารทั้งหมดล้วนสร้างขึ้นในยุคปัจจุบัน ไม่เหลือสิ่งก่อสร้างสมัยโบราณเหลือแล้ว

ระเบียงคดรอบวิหารหลัก มีรูปเกี่ยวกับพุทธประวัติ แตกต่างจากตามวัดหลวงในไทย ที่มักประดิษฐานพระพุทธหลายองค์เรียงรายไปตามระเบียงคด

พระประธานในวิหารวัดพระพรหมรัตน์



เจดีย์ด้านขวาในรูปนี้ แม้ว่าจะเป็นเจดีย์ทรงย่อมุมคล้ายแบบไทย แต่ก็นำศิลปะขอมมาดัดแปลงประยุกต์เข้าไป อย่างกรอบประตูเล็กๆประดับเจดีย์ดัดแปลงมาจากกรอบประตูตามปราสาทขอม

“พ.ศ.2550 - ค.ศ.2006” ที่แสดงบนกำแพงวัด แสดงว่าพุทธศักราชของกัมพูชาและพม่า จะเริ่มนับในปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน แต่พุทธศักราชของไทยจะเริ่มรับหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี ปี พ.ศ.ของกัมพูชาจึงล้ำหน้ากว่าของไทยไป 1 ปี นอกจากนี้ กัมพูชาก็ใช้ตัวเลขแบบเดียวกับเลขไทยด้วย

จากวัดพระพรหมรัตน์ก็เดินเลียบแม่น้ำเสียมเรียบต่อ

ช่วงที่พวกผมไปเสียมเรียบ เป็นช่วงที่มีรัฐพิธีแห่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาไปประดิษฐานที่เจดีย์เงินในพระราชวัง จึงเห็นแผ่นป้ายเกี่ยวกับงานนี้กระจายอยู่ในเมือง

พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ยามเสด็จแปรพระราชฐานมายังเสียมเรียบ

ศาลองค์เจ็กองค์จอม ซึ่งคล้ายศาลหลักเมือง ทำหน้าที่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เจ็ก-องค์จอม ซึ่งชาวเมืองถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ศาลแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1990

พระพุทธรูปคู่ภายในศาลองค์เจ็กองค์จอม องค์ที่สูงกว่าคือองค์เจ็ก

โรงแรม Grand Hotel d’Angkor โรงแรมหรูหราแห่งแรกในเมืองเสียมเรียบ ซึ่งฝรั่งเศลสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ตามมาตรฐานในสมัยนั้นขึ้นในอินโดจีนฝรั่งเศส 5 แห่ง โดยโรงแรมนี้ถูกสร้างในเมืองเสียมเรียบเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมนครวัด-นครธม ที่เริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และเปิดให้บริการในปี ค.ศ.1932

พระตำหนักกษัตริย์กัมพูชา-ศาลองค์เจ็กองค์จอม-โรงแรม Grand Hotel d’Angkor กระจุกตัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน


-------------------------------------
[ซีรีส์ “จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ” ยังมีตอนต่อไปครับ]



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น