วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (៣)



[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()
จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (3)

-------------------------------------

วันแรกของทริป: ลุยเมืองเสียมเรียบ (ต่อ)

เดินไปไม่ไกลจากศาลองค์เจ็กองค์จอม ก็มาเรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์สักหน่อย


พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ (Angkor National Museum, សារមន្ទីរជាតិអង្គរ “ซาระเมือนตีเจียดอ็องโก”) เปิดให้บริการในปี ค.ศ.2007 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยบริษัทเอกชนของไทย เก็บรักษาและแสดงโบราณวัตถุของกัมพูชา รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมขอม โดยศิลปวัตถุโดยส่วนใหญ่ ที่แสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นงานศิลปะยุคอาณาจักรขอม ช่วงคริสตศตวรรษที่ 9-14 ที่ค้นพบจากเมืองพระนครและบริเวณใกล้เคียง โดยศิลปวัตถุเหล่านี้ยืมมาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ และ “Conservation d’Angkor” คลังเก็บโบราณวัตถุขอมที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงวัฒนธรรมกัมพูชา

ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คนละ 12 USD แต่ถ้าหากต้องการหูฟังสำหรับคำบรรยาย (Audio guide) ต้องเสียเพิ่ม 3 USD โดยมีให้เลือก 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาเขมร, ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เกาหลี และจีน

ส่วนนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 8 ส่วน แต่เนื่องจากห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ จึงใช้รูปประกอบจากเวบไซต์ของทางพิพิธภัณฑ์ http://www.angkornationalmuseum.com/ แทน

- Briefing Hall: ห้องฉายภาพยนตร์แนะนำพิพิธภัณฑ์

- ห้องแสดงพระพุทธรูป 1,000 องค์: ห้องนิทรรศการนี้จะแสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธต่อชาวกัมพูชา ตั้งแต่ครั้งอารยธรรมขอมโบราณ จนถึงกัมพูชายุคปัจจุบัน

- ห้องนิทรรศการ A อารยธรรมขอม: อธิบายว่าอารยธรรมขอมเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ขอมโบราณสร้างอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ ความเชื่อต่อกษัตริย์ และประวัติศาสตร์ของขอม

- ห้องนิทรรศการ B ศาสนาและความเชื่อ: อธิบายเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของอารยธรรมขอม ที่ปรากฏในงานวรรณกรรม รูปสลัก สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต

 
- ห้องนิทรรศการ C กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งใหญ่: ห้องนิทรรศการแสดงประวัติของกษัตริย์ขอมองค์สำคัญ เช่น พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้ทรงรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเป็นหนึ่งเดียว ในช่วง ค.ศ.802-850, พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ผู้โปรดให้สร้างเมืองยโสธรปุระ (เมืองพระนคร) ในช่วงปี ค.ศ.889-900 เพื่อเป็นเมืองหลวงของขอม, พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้โปรดให้สร้างนครวัดขึ้นในช่วง ค.ศ.1116-1145, พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้โปรดให้สร้างนครธมในช่วง ค.ศ.1181-1201

 
- ห้องนิทรรศการ D นครวัด: ห้องนิทรรศการแสดงประวัติ หลักการเชิงศาสนา และเทคนิคทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างนครวัด

- ห้องนิทรรศการ E นครธม: ห้องนิทรรศการเกี่ยวกับการก่อสร้างและขยายตัวของนครธม ความเปลี่ยนแปลงทางศาสนา แผนวิศวกรรมเพื่อใช้ในสาธารณูปโภคสมัยโบราณ เช่น ถนนและระบบชลประทานขนาดใหญ่

- ห้องนิทรรศการ F เรื่องราวจากก้อนหิน: ห้องแสดงหลักศิลาจารึก ที่ใช้บันทึกถึงเหตุการณ์ต่างๆในประวัติศาสตร์

- ห้องนิทรรศการ G เครื่องแต่งกายโบราณ: นิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายในสมัยขอมโบราณ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านลักษณะที่ปรากฏของรูปสลักรูปเทพ เทพี และนางอัปสรา

ค่าน้ำดื่มที่นี่ค่อนข้างแพง (ขวดเล็ก 500 ml ราคา 1 USD) และหากใครสนใจเรื่องราวแนวประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม อาจจะใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมงยังคิดว่าไม่พอ

หลังเสร็จจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์แล้ว เหมารถตุ๊กตุ๊กจากหน้าพิพิธภัณฑ์ไปจุดขายตั๋ว Angkor Pass - ปราสาทพนมบาแคง และ Pub Street ได้ราคาที่ 10 USD


ตั๋ว Angkor Pass เป็นตั๋วสำหรับใช้เข้าโบราณสถานต่างๆ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์อังกอร์ ที่ครอบคลุมนครวัด-นครธม ไปจนถึงโบราณสถานโดยรอบ เช่น ปราสาทบันทายสรี กบาลสะเปียน (ธารน้ำที่มีกลุ่มรูปสลักใต้น้ำ) และกลุ่มปราสาทโรลัวะ แต่ไม่รวมโบราณสถานที่อยู่ไกลออกไปอีก อย่างพนมกุเลน, เกาะแกร์ และบึงมาลา

ตั๋ว Angkor Pass จะมี 3 แบบ ได้แก่
- 1 วัน ราคา 20 USD
- 3 วัน ราคา 40 USD
- 5 วัน ราคา 60 USD

ผมเลือกตั๋วแบบ 3 วัน ซึ่งตั๋วจะระบุว่าวันที่เริ่มใช้ตั๋วและวันที่ตั๋วหมดอายุห่างกัน 7 วัน ใน 7 วันนี้ จะใช้ตั๋ว 3 วันติดกัน หรือจะใช้วันเว้นวันก็ได้แล้วแต่นักท่องเที่ยว โดยเจ้าหน้าที่ตามทางเข้าโบราณสถานแต่ละแห่งจะมาตรวจตั๋วตลอด ดังนั้น ถ้าทำตั๋วหายจะต้องซื้อใหม่เท่านั้น

จุดขายตั๋วเปิดปิด 5.30 - 17.30 น. ซึ่งหากมาซื้อตั๋วระหว่าง 17.00 - 17.30 น. ตั๋วจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในวันซื้อ
(หมายความว่า สามารถชมปราสาทที่อยู่ใกล้ๆจุดขายตั๋ว ตอนเย็น
ได้ฟรี)

ตั๋ว Angkor Pass ที่ผมได้มา เขาจะถ่ายรูปที่จุดขายตั๋วแล้วพิมพ์ไปบนตั๋วเลย

คนตรวจตั๋วจะเจาะรูตามวันที่ที่เข้าเยี่ยมชม โดยดูจากวงกลมระบุวันที่

นครวัด โบราณสถานอีกแห่งที่อยู่ใกล้จุดขายตั๋ว แต่เพราะขนาดใหญ่ที่ใหญ่เกินจะเที่ยวชมในตอนเย็นได้หมด และตั้งใจจะมาในวันอื่นอยู่แล้ว เลยได้แต่ผ่านไป ก่อนจะมาถึงปราสาทอีกแห่งที่เป็นจุดหมายในเย็นนี้


ปราสาทพนมบาแคง (Phnom Bakheng, ប្រាសាទភ្នំបាខែង “ปราสาทพนุมบาแคง”) ถูกสร้างขึ้นประมาณปลายคริสตศตวรรษที่ 9 - ต้นคริสตศตวรรษที่ 10 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู อุทิศแก่พระศิวะ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆสูงประมาณ 70 เมตร ปราสาทแห่งนี้เคยกล่าวถึงในศิลาจารึกว่า “ยโสธเรศวร” ส่วนชื่อ “พนมบาแคง” ถูกเรียกมาตั้งแต่ราวคริสตทศวรรษ 1930 การที่ปราสาทพนมบาแคงตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเล็กๆ จึงทำให้เป็นจุดชมวิวยามเย็นยอดนิยม ของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเสียมเรียบ

ปราสาทพนมบาแคงเป็นศูนย์กลางของกรุงยโศธรปุระ ที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งเป็นเมืองหลวงใหม่ ย้ายจากเมืองหลวงเดิม “หริหราลัย” (บริเวณกลุ่มปราสาทโรลัวะ) โดยกรุงยโศธรปุระ (เมืองพระนคร) เป็นเมืองที่ถูกสร้างซ้อนทับกันในบริเวณเดิม เมืองที่พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ตั้งขึ้นเป็น “เมืองพระนครแห่งแรก” ล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองยาวด้านละ 4 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่านครธม ที่เป็น “เมืองพระนคร” ในรุ่นหลัง มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลาง


แผนที่จาก Google Map ในบริเวณ "เมืองยโสธรปุระ" (เมืองพระนคร) ทั้ง "ยโศธรปุระแห่งแรก" ที่มีศูนย์กลางที่พนมบาแคง และ "ยโศธรปุระแห่งที่ 2" (นครธม) ที่มีศูนย์กลางที่ปราสาทบายน (แผนที่อันล่างดัดแปลงโดยเจ้าของบล็อก)

ปราสาทพนมบาแคงถูกสร้างในลักษณะ “ศาสนบรรพต” (Temple Mountain) ซึ่งเป็นอาคารรูปร่างคล้ายพีระมิด มีฐานรูปสี่เหลี่ยมเป็นชั้นๆลดหลั่นกันขึ้นไป และมีปรางค์บริวารขนาดเล็กอยู่โดยรอบบนฐานแต่ละชั้น เช่นเดียวกับปราสาทบากอง ในกลุ่มปราสาทโรลัวะ ที่เก่าแก่กว่าปราสาทพนมบาแคงราว 2 ทศวรรษ

ลักษณะ “ศาสนบรรพต” ยังสื่อถึงแนวความคิดเชิงจักรวาลวิทยาของฮินดูด้วย โดยปราสาทแห่งนี้มีเจ็ดชั้น ตาม “สัตตบริภัณฑ์คีรี” เทือกเขา 7 ชั้น ได้แก่ ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ภูเขาที่เป็นหลักของโลกและศูนย์กลางจักรวาลตามความเชื่อของทางฮินดู

ขณะที่ปรางค์บริวารโดยรอบ 108 องค์ (ปรางค์รายที่พื้นชั้นล่างสุด 44 องค์ ปรางค์รายบนฐานรูปสี่เหลี่ยม (ชั้น 2-6) 60 องค์ และปรางค์รายรอบปรางค์ประธานชั้นบนสุด 4 องค์) ซึ่งนักโบราณคดีเสนอแนวคิดว่า จำนวนของปรางค์บริวารดังกล่าวมีอาจมีความหมายในเชิงดาราศาสตร์

- จำนวนปรางค์รายทั้งหมด 108 องค์: 108 เป็นผลคูณระหว่าง 27 (จำนวนวันใน 1 เดือนดาราคติ (ดวงจันทร์โคจรกลับมาปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวราศีเดิม)) และ 4 (เฟสของดวงจันทร์ 4 ช่วง คือ จันทร์ดับ ข้างขึ้น จันทร์เพ็ญ และข้างแรม)

- จำนวนปรางค์รายบนฐานรูปสี่เหลี่ยม (ชั้น 2-6) ชั้นละ 12 องค์: อาจสื่อถึงกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 ในดาราศาสตร์อินเดีย, ปีนักษัตรทั้ง 12 ปีของจีน หรือคาบการโคจรของดาวพฤหัสบดีที่ใช้เวลา 12 ปีถึงจะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบรอบ

 แผนที่แสดงทางขึ้นเนินเขาพนมบาแคง มีทั้งทางเดินเท้า และทางเดินสำหรับขี่ช้างขึ้นไป (หากจะขี่ช้างต้องเสียเงินเพิ่ม)

เนื่องจากพนมบาแคงมีชื่อเสียงในฐานะจุดชมวิวยามเย็น นักท่องเที่ยวที่นี่เลยเยอะ

...และเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนสักครึ่งหนึ่ง (ประมาณโดยสายตา)

เจ้าหน้าที่เฝ้าโบราณสถานบนพนมบาแคง หากท้องฟ้าเริ่มมืดแล้ว เขาจะเริ่มเชิญให้นักท่องเที่ยวลงไปจากพนมบาแคง 

ศิวลึงค์ในปรางค์รายที่พังไปแล้ว

มองไปแถวขอบฟ้าทางใต้ เห็นวิวเมืองเสียมเรียบอยู่ไกลๆ

ลวดลายประดับกรอบประตูของปรางค์ คิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่บูรณะใหม่ (สังเกตจากสีที่อ่อนกว่า ส่วนที่สีคล้ำกว่าน่าจะเป็นของเก่า)

รูปนางอัปสราที่ผนังปรางค์บนชั้น 7 ของพนมบาแคง ถ้าซูมรูปเข้าไปจะเห็นริ้วที่หน้าท้อง และรอยกระสุนปืนครั้งสงครามกลางมือตรงเหนือหน้าอก


อีกหนึ่งมุมมหาชน ที่นักท่องเที่ยวไปมุงถ่ายภาพกัน

ผมก็ถ่ายภาพตรงมุมมหาชนอีกคน จากตรงนี้ เห็นนครวัดดูเหมือนจะอยู่กลางป่าเลยทีเดียว


ปรางค์รายตามฐานรูปสี่เหลี่ยมแต่ละชั้นของปราสาทพนมบาแคง


หลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ก็รีบเดินลงเนินเขา เพราะทางเดินไม่มีแสงไฟบอกทาง และกลับมาที่ Pub Street ในตัวเมืองเสียมเรียบ Pub Street ก็มีลักษณะตามชื่อ คือเป็นแหล่งรวมร้านอาหาร ผับ บาร์ที่เปิดยามค่ำคืน และยังมีพวกร้านของตัวแทนจำหน่ายทัวร์

สาเหตุที่มาที่นี่ นอกจากมาหาอาหารเย็นกินแล้ว อีกส่วนหนึ่งเพราะร้านอาหารที่เล็งไว้ มีดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาเคล้าอาหารมื้อเย็นให้ชม แม้แต่บางร้านก็มีการแสดงการต่อสู้พื้นบ้านด้วย

สำหรับรายชื่อคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม หรือโรงละครที่มีการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา พร้อมข้อมูลประกอบ (ราคา, รูปแบบการแสดง-อาหาร วัน-เวลาที่มีการแสดง ระยะเวลาในการแสดง) สามารถดูได้ที่ลิงก์นี้ http://tourinsiemreap.com/guide/apsara-dance-dinner-show-siem-reap/


ผมเลือกร้าน Temple Balcony ตรงที่มีดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาฟรี ระยะการแสดงนานที่สุด (2 ชั่วโมง 19:30-21:30 น.) แต่ชั้นล่างของร้านจะแสดงชื่อ Temple Club แทน ทำให้หลงบ้างเล็กน้อย


 สั่ง Temple's Set ของทางร้าน ประกอบด้วยอาม็อก (เนื้อปลานึ่งกับพริกแกง คล้ายๆ ห่อหมก) แกงกะหรี่ไก่ ปอเปี๊ยะทอด ข้าวเปล่า 1 ชาม ซึ่งเป็นเซ็ตสำหรับ 1 คน ราคา 14 USD แต่เพราะเห็นว่าแพงไป และดูจากปริมาณแล้ว สามารถเป็น "กับข้าวส่วนกลาง" สำหรับพวกผมได้ จึงสั่งข้าวเปล่าเพิ่ม 2 จาน จานละ 0.5 USD รวมเป็น 3 คน 15 USD

สำหรับดนตรีและการแสดงพื้นบ้านกัมพูชาของทางร้าน มีลำดับตามนี้


- 19:30-19:50 บรรเลงดนตรีพื้นบ้าน
- 19:50-20:00 ระบำอวยพร




- 20:03-20:11 ระบำกะลา


คลิปตัวอย่างระบำกะลาในภาพยนตร์กัมพูชา ปี ค.ศ.1969 ก่อนยุคเขมรแดงครองเมือง

- 20:16-20:30 ระบำอัปสรา







คลิปตัวอย่างส่วหนหนึ่งของระบำอัปสราที่นครวัด

- 20:33-20:41 ระบำนกยูงไพลิน



คลิปตัวอย่างของระบำนกยูงไพลิน

- 20:44-20:54 ระบำพระรามพระลักษมณ์



- 20:57-21:06 ระบำหาปลา



คลิปตัวอย่างของระบำหาปลา

- 21:06-21:16 ช่วงเวลาเปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมถ่ายรูปในนักแสดงระบำอัปสรา
- 21:16-21:30 บรรเลงดนตรีพื้นบ้าน


สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา ผมขอแนะนำให้ไปอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมจากบทความ “นาฏศิลป์กัมพูชา” โดยคุณชัยวัฒน์ เสาทอง ในวารสารศิลปวัฒนธรรม สำนักพิมพ์มติชน ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2548 http://info.matichon.co.th/art/art.php?srctag=0609010548


-------------------------------------

แหล่งข้อมูลเรื่องปราสาทพนมบาแคง

- หนังสือ The Treasures of Angkor โดย Marilia Albanese
- หนังสือ Ancient Angkor โดย Michael Freeman & Claude Jacques

บทความตอนที่แล้วในชุดบทความ "จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ"

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

ตอนที่ 2: แนะนำเมืองเสียมเรียบ วัดพระพรหมรัตน์ พระตำหนักหลวงและศาลองค์เจ็กองค์จอม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น