วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2557

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (១)




[Economical Traveler] ជំរាបសួសៀមរាប ()

จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (1)


---------------------------------------------------------- 


“ปีนี้ไปแบคแพคกัมพูชากันไหมครับพี่”


สักราวๆต้นปี 2557 ผมลองถามชวนรุ่นพี่ C (นามสมมติ) ที่ผมเคยช่วยงานหนังสือเกี่ยวกับ ASEAN ซึ่งทั้งคู่ก็สนใจเรื่องของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกัมพูชาพอดี อีกทั้งแม้ผมจะเริ่มคิดอยากไปเที่ยวแบบแบคแพค แต่ก็ไม่อยากลุยเดี่ยวในทริปครั้งแรก ด้วยข้อจำกัดด้านประสบการณ์และการเงิน เลยเลือกระเทศเพื่อนบ้านที่ดูน่าจะมีเพื่อนร่วมทริป

นึกไปมันก็คงเรียกว่าเป็น “โชคชะตา” ระหว่างผมกับกัมพูชาก็ได้….

15 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะเคย“เหยียบต่างประเทศ”ครั้งแรก ที่ปราสาทเปรียะฮ์วิเฮีย (พระวิหาร) แต่ตอนนั้น ผมเองก็ยังเป็นเด็กประถมอยู่ จำอะไรได้ไม่มากนัก

จากการพูดคุยกันคราวนั้น ทั้งผมกับพี่ C ก็ตกลงร่วมทริปกันโดยเลือกที่จะไปเสียมเรียบอย่างเดียวก่อน เพราะเป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญ (แถมเสียมเรียบอยู่ใกล้บางกอกมากกว่าเชียงใหม่ด้วยซ้ำ) เพียงแต่ยังไม่ได้คุยกันถึงรายละเอียด

จนเพจ “อาแปะ” ที่หลายคนอาจจะตามเพจนี้ในฐานะแหล่งรวมข่าวสารเกี่ยวกับ Promotion ตั๋วเครื่องบินหรือที่พัก (รวมถึงผมด้วย) ได้ลง Promotion นี้มา

[ที่มาของภาพ: เพจ Ar-pae.com]

ถึงจะไม่ได้จองตั๋วเครื่องบินและที่พักตาม Promotion นี้ แต่ก็ทำให้ผมได้คุยกับพี่ C ถึงรายละเอียดเรื่องทริปแบคแพค รวมถึงชวนรุ่นพี่ P (นามสมมติ) เพราะเห็นว่าพี่เขาเคยวางแผนจะไปเสียมเรียบมาก่อนแต่เกิดทริปล่ม และแบ่งหน้าที่ของแต่ละคนในทริป

ผม: ปรับแก้แผนทริปจากแผนเดิมของพี่ P, ประมาณงบในทริป, ติดต่อและติดตามเรื่องที่พักกับเหมารถแท็กซี่
พี่ C: จองที่พักและตั๋วเครื่องบินผ่าน Expedia และติดตามเรื่องเที่ยวบิน (หากมีปัญหา)
พี่ P: แผนเที่ยวเดิม และการอ่านตัวอักษรภาษากัมพูชา


----------------------------------------------------------


แผนทริปที่วางไว้

ผมปรับแก้แผนทริปเสียมเรียบ โดยอาศัยแผนที่นี้

 
กับแผนที่ของ www.world-heritage-site.com และแผนที่ตัวเมืองเสียมเรียบในเวบ Angkornightmarket.com จนได้แผนออกมาแบ่งเป็นเซ็ตในแต่ละวัน 


วันแรก “เซ็ตในเมือง” (ยกเว้นพนมบาแคง ที่อยู่นอกเมือง)
- ถึงเสียมเรียบ เช็คอินเข้าที่พัก
- พซาจะ (ตลาดเก่า) รวมถึงหาร้านหนังสือแถวนี้
- วัดเปรียะฮ์ปรมรวด (พระพรหมรัตน์) ไปดูสถาปัตยกรรมพื้นบ้านกัมพูชาสมัยใหม่
- พระตำหนักกษัตริย์กัมพูชา-ศาลหลักเมือง
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกอร์
- ซื้อตั๋ว Angkor Pass แบบ 3 วัน ช่วงระหว่าง 17:00-17:30 น.
- พนมบาแคง
- Pub Street (ร้าน Temple Balcony)

เส้นทางในวันแรกของทริป 
ที่พักในตัวเมือง (A) -> พซาจะ (B) -> วัดเปรียะฮ์ปรมรวด (C) ->
พระตำหนักและศาลหลักเมือง (D) -> พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอังกอร์ (E) -> จุดซื้อ Angkor Pass (F) ->
ผ่านหน้านครวัด (H) -> ดูดวงอาทิตย์ตกที่พนมบาแคง (I) 
ซึ่งขากลับก็ใช้เส้นทางใกล้เคียงกันกลับเข้า Pub Street ในตัวเมือง


วันที่ 2 “เซ็ตของไกลทางตะวันออก”
- กลุ่มโบราณสถานเกาะฮ์เก (เกาะแกร์)
- ปราสาทเบ็งเมเลีย (บึงมาลา)
- กลุ่มโบราณสถานโรลัวะฮ์ (โลเลย)

เส้นทางในวันที่ 2 ของทริป 
ที่พักในตัวเมือง (A) -> กลุ่มโบราณสถานเกาะฮ์เก (C) -> ปราสาทเบ็งเมเลีย (D) ->
กลุ่มโบราณสถานโรลัวะฮ์ (F) -> กลับเข้าตัวเมือง
จะเห็นว่า เกาะฮ์เกอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของทางจากเสียมเรียบไปปราสาทเปรียะฮ์วิเฮีย (พระวิหาร : ทางขวาบนของรูป)


วันที่ 3 “เซ็ตปราสาทนอกนครวัด-นครธม
- ดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่หน้านครวัด (ไม่เข้าตัวปราสาท)
- ปราสาทบ็อนเตียย-สเรย (บันทายศรี)
- ปราสาทเมบนคางเกิด (แม่บุญตะวันออก)
- ปราสาททมมะนน (ธมมานนท์) - ปราสาทเจาซายเตเวียะตา (เจ้าสายเทวดา)
- สเปียนทมอ (สะพานหินข้ามแม่น้ำเสียมเรียบ)
- อโรคยศาลา (ในแผนที่มักเขียนภาษาอังกฤษกำกับเป็น Chapel of the hospital)
- ปราสาทตาแกว (ตาแก้ว)
- ปราสาทตาปรม (ตาพรหม)
- ปราสาทบ็อนเตียย-กเดย (บันทายกเดย)
- ดูดวงอาทิตย์ตกที่ปราสาทแปรรูป

เส้นทางในวันที่ 3 ของทริป 
ที่พักในตัวเมือง (I) -> ปราสาทบันเตียย-สเรย (D) -> ปราสาทเมบนคางเกิด (C) ->
ปราสาททมมะนน-เจาซายเตเวียะตา (E โดน F บัง) -> ปราสาทตาแกว (F) -> ปราสาทตาปรม (G) ->
ปราสาทบ็อนเตียย-กเดย (H) -> ดูดวงอาทิตย์ตกที่ปราสาทแปรรูป (B) 
ขากลับก็ใช้เส้นทางใกล้เคียงกันกลับเข้าตัวเมือง

วันสุดท้าย “นครวัด-นครธม”
- ดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่สระฮ์สร็อง (สระสรง)
- ปราสาทเนียะป็วน (นาคพัน)
- ปราสาทเปรียะฮ์คัน (พระขรรค์)
- เปรียะฮ์เลียนจลดำเรย (ลานช้าง)
- ปราสาทพิเมียนอากาฮ์ (พิมานอากาศ)
- ปราสาทบาปวน
- ปราสาทบายน
- ปราสาทนครวัด
- เช็คเอาท์จากที่พัก กลับบางกอก

เส้นทางในวันสุดท้ายของทริป 
เดินทางจากที่พักในตัวเมือง -> ดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่สระฮ์สร็อง (B) -> ผ่านบารายคางเกิด (บารายตะวันออก) ที่ตื้นเขินไปแล้ว ->
ปราสาทเนียะป็วน (C) -> ปราสาทเปรียะฮ์คัน (D) ->
ปราสาทพิเมียนอากาฮ์ (E โดน F บัง) ->
ปราสาทบาปวน (F) -> ปราสาทบายน (G) -> ปราสาทนครวัด (H)
ขากลับก็ใช้เส้นทางใกล้เคียงกันกลับเข้าตัวเมือง


สถานที่ท่องเที่ยวที่มักมีในโปรแกรมทัวร์ที่เสียมเรียบ แต่ไม่ใส่ในทริป
- “กบาลสเปียน” (แหล่งรูปสลักรูปศิวลึงค์ตามริมตลิ่งและใต้น้ำ) ส่วนตัวผมก็สนใจ แต่เนื่องจากเวลามีไม่พอ และตอนวางแผนไม่แน่ใจว่าน้ำจะขุ่นแดงเมื่อเข้าฤดูฝนหรือไม่
- ชุมชนเรือนแพบนโตนเลสาป ส่วนตัวไม่ได้สนใจ


----------------------------------------------------------
 
ช่วงเวลาในทริป

จากการวางแผน พอสรุปได้แล้วว่าจะเป็นทริปแบคแพค 4 วัน 3 คืน จึงล็อกไว้ที่ช่วง 10-13 ก.ค. ตรงกับช่วงหยุดเสาร์อาทิตย์พ่วงวันหยุดอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับช่วง Low Season ที่เสียมเรียบ (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม)


----------------------------------------------------------


การเดินทางระหว่างบางกอก-เสียมเรียบ

ตอนแรกคิดอยากจะเดินทางจากบางกอกไปเสียมเรียบทางรถบัส เพราะผมเองไม่ถูกกับเครื่องบิน (ไม่ชอบความรู้สึกเวลาเครื่องบินกำลังขึ้น-ลง) แต่ทั้งพี่ C และพี่ P ไม่เห็นด้วย เนื่องจากตามโปรแกรมทริปนี้ถือว่าเดินชมโบราณสถานกันหนัก และผมเห็นว่ามีเฉพาะผม ที่นั่งรถบัสระหว่างบางกอก-เชียงใหม่อีกต่อ คิดไปคิดมาเลยยอมไปทางเครื่องบิน

สำหรับสายการบินที่บินตรงระหว่างบางกอก-เสียมเรียบ ได้แก่

- Bangkok Airways
สุวรรณภูมิ->เสียมเรียบ: 8:00-9:00, 11:35-12:35, 13:45-14:45, 17:40-18:40, 19:15-20:25
เสียมเรียบ->สุวรรณภูมิ: 9:50-10:45, 13:25-14:20, 15:35-16:30, 19:30-20:25, 20:55-22:10

- Thai Air Asia
ดอนเมือง->เสียมเรียบ: 10:20-11:30, 19:50-21:00
เสียมเรียบ->ดอนเมือง: 12:15-13:25, 21:45-22:50

- Cambodia Angkor Air
สุวรรณภูมิ->เสียมเรียบ: 10:40-11:50, 15:00-16:10, 20:00-21:10
เสียมเรียบ->สุวรรณภูมิ: 8:15-9:25, 12:50-14:00, 17:35-18:45

เนื่องจากราคาค่าโดยสารเครื่องบินของแต่ละสายการบินไม่เท่ากัน เนื่องจาก Promotion หรือช่วง Low/High Season จึงขอแนะนำให้ตรวจสอบจากเวบไซต์ของสายการบิน หรือเวบหาตั๋วเครื่องบินราคาถูก (เช่น skyscanner)

ซึ่งในทริปนี้ก็เลือก Air Asia เพราะค่าตั๋วเครื่องบินถูกที่สุดในบรรดาทั้ง 3 เจ้า (ในช่วงเวลาที่จอง) และผมสะดวกไปขึ้นเครื่องบินที่ดอนเมืองมากกว่า โดยเลือกเที่ยวบินขาไป ดอนเมือง->เสียมเรียบ 10:20-11:30 และขากลับ เสียมเรียบ->ดอนเมือง 21:45-22:50 

 การเดินทางจากบางกอกไปเสียมเรียบ ในที่นี้ผมระบุจุดตั้งต้นที่สนามบินดอนเมือง (ระยะการเดินทางด้วยรถยนต์ไม่ว่าจะจากดอนเมืองหรือสถานีหมอชิตก็พอๆกัน) ซึ่งผมคิดว่าระยะเวลาเดินทางด้วยรถยนต์ที่ Google Map ให้มานี้ คงไม่ได้คิดเรื่องสภาพการจราจรติดขัด และการเสียเวลาที่ด่านชายแดน


หากใครสนใจเดินทางจากบางกอกไปเสียมเรียบทางรถบัส (ผ่านด่านปอยเปต) หลักๆจะมีอยู่ 2 เจ้า ได้แก่

- บขส. (ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2)
ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง รถออก 8:00 และ 9:00 น. ค่าโดยสาร 750 บาท


- แอร์อรัญพัฒนา
รถบัสออกวันละ 2 เที่ยว (จากสถานีขนส่งเอกมัย 8:30 น., จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 10:00 น.) ค่าโดยสาร 600 บาท
บางกอก->อรัญประเทศ 4 ชั่วโมงครึ่ง / ด่านชายแดน 1 ชั่วโมง / ปอยเปต->เสียมเรียบ 3 ชั่วโมง




----------------------------------------------------------


ที่พักและบริการรถของทางที่พัก

สำหรับที่พักนั้น ผมเลือกเอาจากปัจจัยตามนี้

1. ราคาถูก จึงเล็งพวก Guest House มากกว่าโรงแรม

2. มีห้องแอร์ เนื่องจากแต่ละวันในทริปเน้นการเดินชมโบราณสถานตั้งแต่เช้าถึงเย็น จึงคิดว่าห้องพัดลมน่าจะเอาไม่อยู่

3. ตำแหน่งที่ตั้ง
- ไม่อยู่นอกตัวเมือง
- ควรอยู่ใกล้พซาจะ (ตลาดเก่า)
- ห่างจาก Pub Street มาบ้าง (หากอยู่ใกล้ไปอาจเจอบรรยากาศที่นักเที่ยวยามกลางคืนเยอะเกิน) แต่อยู่ในระยะที่เดินไปได้

4. บริการรถรับส่งไปกลับระหว่างที่พัก-สนามบิน รวมถึงมีบริการทริปนำเที่ยวให้เลือก (หมายถึงมีบริการรถตุ๊กตุ๊กหรือแท็กซี่ระหว่างทริป)

5. มีร้านอาหารในตัว (เผื่อในกรณีที่เหนื่อยจากทริปจนขี้เกียจไปหาอาหารเย็นกินแถวพซาจะหรือ Pub Street)

6. จำนวนดาวในหน้า Expedia เกี่ยวกับที่พักดูสูงกว่าที่พักอื่นๆที่มีราคาระดับเดียวกัน

จากเกณฑ์ทั้ง 6 ที่ผมใช้พิจารณานี้ มีอยู่ที่หนึ่งที่เข้าเกณฑ์คือ Tropical Breeze Guesthouse

เวบไซต์ของ Guesthouse: http://www.tropicalbreezegh.com/

หน้า Expedia: http://www.expedia.co.th

หน้า Tripadvisor: http://www.tripadvisor.com

หน้า Booking: http://www.booking.com

หน้า Agoda: http://www.agoda.com

พอผมเสนอที่พักแห่งนี้กับพี่ C และพี่ P และจองเรียบร้อยแล้ว ก่อนพบว่าลืมอีกเกณฑ์หนึ่งไป.....

7. สภาพห้องน้ำ

พี่ P เลยลองไปเช็คหน้าเกสเฮาส์นี้ในเวบ Tripadvisor .......โชคดีว่าสภาพห้องน้ำโอเคสำหรับพวกเรา (แต่ก็ทำให้ผมพยายามจะไม่ลืมเกณฑ์นี้ในการเลือกที่พัก หากมีทริปครั้งถัดไป)

พอเริ่มส่งเมล์ติดต่อกับที่พัก ก็รู้สึกว่าทางนั้นพยายามตอบกลับมาค่อนข้างเร็ว (ประมาณ 1-3 วัน และแน่นอนว่าต้องเป็นเมล์ภาษาอังกฤษ) รวมถึงถามเกี่ยวกับค่าเหมารถสำหรับทริปแต่ละวัน

ทริปวันที่ 1 “เซ็ตในเมือง”: อยากลองใช้บริการรถตุ๊กตุ๊กข้างนอก จึงไม่ได้ถาม

ทริปวันที่ 2 “เซ็ตของไกลด้านตะวันออก”: ค่อนข้างสอดคล้องกับโปรแกรมนี้ของทางเกสเฮาส์ (ต่างกันแค่ในแผนมีกลุ่มโบราณสถานโรลัวะฮ์เพิ่มเข้ามา) http://www.tropicalbreezegh.com/?page_id=1260

โดยเลือกรถแท็กซี่แทนที่รถตุ๊กตุ๊ก เพราะเป็นทริปที่เดินทางไกลสุด, ถนนไปเกาะแกร์ส่วนหนึ่งเป็นดินลูกรัง ฝุ่นอาจจะเยอะ หรืออาจเกิดความไม่สะดวกหากฝนตก พบว่าค่าเหมารถแท็กซี่ 100 USD (คิดรวมทุกคน) ซึ่งแพงไป.....

ทริปวันที่ 3 “เซ็ตปราสาทนอกนครวัด-นครธม”: พบว่าอยู่ระหว่าง 2 โปรแกรมของทางเกสเฮาส์ http://www.tropicalbreezegh.com/?page_id=102 กับ http://www.tropicalbreezegh.com/?page_id=104 ตกลงได้ราคา 30 USD (ค่าเหมารถตุ๊กตุ๊ก 25 USD + ค่าล่วงเวลาดูดวงอาทิตย์ขึ้น 5 USD)

ทริปวันสุดท้าย “นครวัด-นครธม”: ตกลงได้ราคา 20 USD (ค่าเหมารถตุ๊กตุ๊ก 15 USD + ค่าล่วงเวลาดูดวงอาทิตย์ขึ้น 5 USD)

ส่วนบริการรถระหว่างสนามบิน-ที่พัก ผมได้ถามย้ำกับทางเกสเฮาส์อีกที ตกลงว่ารถตุ๊กตุ๊กของเกสเฮาส์จะไปรับจากสนามบินฟรี แต่ขากลับสนามบิน คิดค่าบริการแบบเหมา 5 USD


----------------------------------------------------------


ค่าเหมาแท็กซี่สำหรับทริปโบราณสถานรอบนอก (เกาะฮ์เก-เบ็งเมเลีย-โรลัวะฮ์)

อย่างที่พบว่าราคาค่าเหมารถแท็กซี่กับทางเกสเฮาส์เพื่อไปโบราณสถานรอบนอก (เกาะฮ์เก, เบ็งเมเลีย, โรลัวะฮ์) ในวันที่ 2 ของทริปนั้นแพงไปสำหรับพวกผม ตอนนั้นผมลองค้น google ดูเพื่อหารถแท็กซี่เจ้าอื่นว่าทริปไปเกาะฮ์เกกับเบ็งเมเลีย มีราคาที่ดีกว่านี้ไหม

รายแรกที่เจอ ค่าเหมารถแท็กซี่ 100 USD
…….ราคาเท่ากับทางเกสเฮาส์ เลยขอบาย

รายที่ 2 “Angkorbestdriver” ให้ราคาไว้ที่ 80 USD....ตอนนั้นค้นเจอแค่สองรายนี้ที่ไปถึงเกาะฮ์เก
พอติดต่อตกลงกันทางเมล์ โดยขอเพิ่มกลุ่มปราสาทโรลัวะฮ์ (เพราะเช็คแผนที่แล้ว พบว่าอยู่บนเส้นทางระหว่างตัวเมืองเสียมเรียบ กับเบ็งเมเลีย-เกาะฮ์เก) ทางนั้นก็ตกลงและให้ราคาลดลงมาอีกที่ 75 USD ซึ่งเป็นราคาที่หาร 3 คนลงตัวด้วย จึงเลือกเหมาแท็กซี่รายนี้

รายที่ 3 ผมเพิ่งเจอหลังจากทริปเสียมเรียบจบลงแล้ว แต่ใส่ไว้เผื่อใครสนใจครับ


----------------------------------------------------------


หนังสือที่ซื้อก่อนเดินทาง และติดไปเสียมเรียบด้วย

หนังสือที่ผมซื้อก่อนไปทริปเสียมเรียบมี 3 เล่ม ตามนี้ครับ

1. “เที่ยวไม่ง้อทัวร์ ตีตั๋วตะลุยกัมพูชา” โดย Kittinew พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Tib Thai Inter Book

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหนักไปทางเสียมเรียบเป็นส่วนใหญ่ (มีฝั่งพนมเปญอยู่ไม่กี่หน้า) และมีการสรุปค่าใช้จ่ายในทริปตอนที่ผู้เขียนไปเสียมเรียบ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ ผมได้นำมาใช้ในการประมาณเงินที่ควรแลกเป็น USD ก่อนไปเสียมเรียบ

แผนที่ 4 สีที่แถมมาด้วยถือว่าดีมาก ช่วยผมวางแผนทริปในแต่ละวันได้สะดวกขึ้น แต่เนื่องจากแผนที่ไม่มีแถบมาตรวัดระยะทาง ทำให้ผมกะระยะทางจากแผนที่ค่อนข้างยาก (ผมต้องกะเอาว่านครธมมีความกว้างด้านละ 3 km แทนแถบมาตรวัดในแผนที่)

2. “Survivor กัมพูชา โดย ผศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์

หนังสือเล่มนี้ ผมคิดจะเอามาอ่านฝึกความเคยชินกับภาษากัมพูชาให้มากขึ้น แค่ในระดับอ่านอักษรกัมพูชาออกก็พอ แต่ก็ยังไม่มีเวลาฝึกจนถึงปัจจุบัน.....หวังว่าจะได้ลองฝึกก่อนไปพนมเปญ

3. “30 ปราสาทขอมในเมืองพระนคร” โดย สรศักดิ์ จันทร์วัฒนกุล พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ
รีวิวหนังสือ: http://www.samkokview.com

ตอนแรกผมตั้งใจจะดูรายละเอียดของแต่ละปราสาทตามหนังสือเล่มนี้ แต่ก็พบว่าหนังสือเล่มนี้หนักเกินที่จะอ่านไปชมปราสาทไป (โดยเฉพาะหากเป็นทริปที่เดินชมหลายปราสาทติดๆกันอย่างนี้) เลยเปลี่ยนแผนเป็นเดินชมปราสาท สนใจตรงไหนก็ถ่ายรูปตรงนั้น แล้วเช็คว่าตรงกันไหม เป็นการเช็ค Sense ด้านโบราณคดีของตัวเองกลายๆในตัวด้วย

นอกจากนี้ เหมือนผมจะเจอนักท่องเที่ยวคนไทยถือหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย 2 คน ตอนผมไปปราสาทบันเตียย-สเรย


----------------------------------------------------------


ค่าไกด์คนท้องถิ่น

ถึงแม้ว่าในทริปนี้ พวกผมจะไม่อาศัยไกด์นำเที่ยวเลย (อ่านหนังสือเตรียมตัวกันไปเอง) แต่ผมก็หาข้อมูลส่วนนี้เผื่อไว้สำหรับคนที่วางแผนเที่ยวแบคแพคกันเอง แบบพึ่งไกด์นำเที่ยวครับ

ค่าไกด์นำเที่ยวที่เสียมเรียบนั้น จะคิดเหมาเป็นรายวัน (ซึ่งตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่ารวมค่าอาหารหรือไม่) แต่ถ้าหากในทริปเริ่มตั้งแต่เช้ามากๆ (อย่างไปดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่นครวัด) หรือไปโบราณสถานรอบนอก จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา สำหรับข้อมูลที่ผมลงไว้ เป็นค่าไกด์รายวันแบบต่ำสุด (ไม่รวมค่าล่วงเวลา ค่าไปโบราณสถานรอบนอก หรือค่าอาหาร)

ไกด์ภาษาอังกฤษ: 30-40 USD
ไกด์ภาษาสเปน; 60-65 USD
ไกด์ภาษาฝรั่งเศส: 45-50 USD
ไกด์ภาษาเยอรมัน: 60-65 USD
ไกด์ภาษาไทย: 40-50 USD
ไกด์ภาษาญี่ปุ่น: 40-50 USD
ไกด์ภาษาเกาหลี: 60-70 USD
ไกด์ภาษาจีน: 50-55 USD

ข้อมูลดังกล่าว ผมประมาณจากเวบไซต์เหล่านี้ครับ


----------------------------------------------------------


ค่าใช้จ่ายและเงินที่แลกไว้ก่อนไป

ถึงแม้ประเทศกัมพูชาจะมีสกุลเงินเรียล (KHR) ก็ตาม แต่เนื่องจากเสียมเรียบเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของกัมพูชา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่มาก จึงมักจะใช้เงิน US Dollar มากกว่า ขณะที่เงิน KHR มักใช้เป็นเงินทอน (เช่น กรณีค่าอาหารที่มีเศษ 0.5 USD) โดยอัตราระหว่าง USD กับ KHR ที่เสียมเรียบจะเป็น 4,000 KHR = 1 USD (ดังนั้น หากทอน 0.5 USD จะได้แบงก์ 2,000 KHR)

เงินบาท (THB) ก็สามารถใช้ได้ แต่อัตราจะโหดขึ้นมาหน่อย แล้วแต่พ่อค้าแม่ค้าคิด ส่วนตัวคิดว่าไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อต้องการเก็บเงิน USD ไว้ หรือในกรณีที่ทางร้านค้าเขาสามารถรับเงินบาท แล้วราคาในหน่วยเงินบาทกับ USD ไม่ต่างกันมาก


[ค่าใช้จ่ายที่จ่ายก่อนไป]

ค่าที่พัก 4 วัน 3 คืนพร้อมค่าโดยสารเครื่องบิน Air Asia ไปกลับ ดอนเมือง-เสียมเรียบ (รวมค่าตัดบัตรเครดิตรุ่นพี่แล้ว) จองผ่าน Expedia: 5,450 THB/คน


[จำนวนเงินที่ประมาณไว้สำหรับแลกเป็น USD ก่อนไป (คิดรายคน)]

ค่าชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ 12 USD + ค่าหูฟังคำบรรยายภาษาไทย 3 USD = 15 USD

ค่า Angkor Pass แบบ 3 วัน 40 USD

ค่าเหมารถแท็กซี่ (วันที่ 2) 75/3=25 USD

ค่าตุ๊กตุ๊ก 15 USD (วันแรก)+ 30 USD (วันที่ 3) + 20 USD (วันสุดท้าย) + 5 USD (ค่ารถไปสนามบิน) = 70 USD
ค่าเช็คเอาท์สาย 5 USD
[ค่าตุ๊กตุ๊ก + เช็คเอาท์สาย = 75 USD --> 75/3 = 25 USD]

ค่าเข้าเกาะฮ์เก 10 USD + ค่าเข้าเบ็งเมเลีย 5 USD = 15 USD

ค่าอาหารมื้อเช้า: พยายามประหยัดด้วยการซื้อขนมปัง (พวกครัวซอง) 1 USD -> 3 วัน = 3 USD

ค่าอาหารมื้อเที่ยง: 5 USD (วันแรก) + 3 USD (วันที่ 2) + 6 USD (วันที่ 3) + 6 USD (วันสุดท้าย) = 20 USD

ค่าอาหารมื้อเย็น: 7 USD (วันแรก) + 5 USD (วันที่ 2) + 5 USD (วันที่ 3) + 5 USD (วันสุดท้าย) = 22 USD

ค่าน้ำดื่ม: ขวดใหญ่ขวดละ 2 USD ประมาณไว้ 2 ขวด/วัน (เช้า-บ่าย) = 7 USD (3 วัน + บ่ายวันแรก)

ค่าทิป: คนละ 4 USD

งบฉุกเฉิน (รวมซื้อของอื่นๆเล็กน้อย): 14 USD

รวมงบที่ประมาณทั้งหมด: 15+40+25+25+15+3+20+22+7+4 = 190 USD ->
ปัดขึ้นเผื่ออีกเป็น 200 USD

อัตราแลกเงิน THB->USD ที่ “หนุ่มฝั่งธน” แลกที่เชียงใหม่ (3 ก.ค. 2557): 32.28 THB = 1 USD -> 6,456 THB


----------------------------------------------------------


ของใช้ที่เตรียมไป

รายการเหล่านี้เป็นรายการที่ผมใช้เช็คของก่อนออกจากเชียงใหม่ครับ

- Boarding Pass ที่พิมพ์ไว้

- เงิน

- Passport

- เสื้อผ้า

- รองเท้าผ้าใบ (เนื่องจากไปเสียมเรียบตอนฤดูฝน ซึ่งอาจมีโคลนและอาจลื่นเวลาฝนตก)

- หนังสือไกด์บุ๊คและแผนที่

- หน้ากากอนามัย (ไว้ป้องกันฝุ่นตามถนน ซึ่งถนนไปโบราณสถานไกลๆเป็นถนนลูกรัง)

- อุปกรณ์กันแดด (ผมใช้หมวกแบบพับได้ไป แต่จะเอาแว่นกันแดด หรือครีมกันแดดเผื่อเพิ่มก็ได้)

- ยาสำหรับโรคประจำตัว

- ตัวแปลงปลั๊กไฟ (แม้ว่าไฟฟ้าที่กัมพูชาจะมีแรงดันไฟฟ้า 220 V เท่ากับที่ไทย แต่เต้าเสียบที่นั่นมักเป็นแบบรูแบนคู่)

- ไฟฉาย (สำหรับกรณีไปดูดวงอาทิตย์ขึ้นที่นครวัด หรือลงมาจากพนมบาแคงหลังดูดวงอาทิตย์ตก รวมถึงดูรายละเอียดตามพื้นที่มืดๆในปราสาท)

- แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว (กรณีผมนั้น เอาไปแต่แปรงสีฟันกับยาสีฟัน กลายเป็นว่าที่พักมีแต่สบู่กับผ้าเช็ดตัวให้ ไม่มียาสระผม)

- ร่มพับ

- สมุดจดบันทึกเล่มเล็กๆ ที่ใส่กระเป๋ากางเกงได้ สำหรับจดบันทึกรายละเอียดในทริป (เช่น เวลาการเดินทางในทริป ค่าใช้จ่ายแต่ละวัน) หรือใช้แนบพวกตั๋วเข้าชมโบราณสถาน (กันเปียกเหงื่อ หากใส่กระเป๋ากางเกง)


----------------------------------------------------------
[ซีรี่ย์ "จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ" ยังมีตอนต่อไปครับ]





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น