วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

[Economical Traveler] ជំរាបសួរ…សៀមរាប (៥)

[Economical Traveler] ជំរាបសួរសៀមរាប ()

จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ (5)

-------------------------------------

ในวันที่ 2 ของทริป จะเป็นไปเที่ยวตามปราสาทรอบนอก ที่ห่างจากนครวัด-นครธม ออกไปทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ จากครึ่งเช้าจะเป็นปราสาทขอมในพื้นที่แถบเกาะแกร์ พอเข้าช่วงเที่ยงและช่วงเย็นก็เป็นปราสาทบึงมาลาและกลุ่มโบราณสถานโรลัวะตามลำดับ


พวกผมนั่งรถจากเกาะแกร์ถึงบึงมาลาประมาณตอนเที่ยง แถวๆข้างปราสาทแห่งนี้มีร้านอาหารข้างทางอยู่ แต่ราคาเป็นอัตรานักท่องเที่ยว อาหารจานเดียวคิดราคา 5 USD ต่อจาน และต้องเลี้ยงข้าวคนขับแท็กซีด้วย

ทางเข้าปราสาทบึงมาลา

พอจะเข้าตัวปราสาท ก็มีเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋วเข้าชมปราสาท (อัตราค่าตั๋ว 5 USD ณ เดือนกรกฎาคม ค.ศ.2014) เช่นเดียวกับปราสาทขอมใหญ่ๆในเสียมเรียบแห่งอื่น

ก่อนจะเล่าถึงการเยี่ยมชมปราสาทบึงมาลาก็ขอแนะนำปราสาทแห่งนี้สักหน่อยครับ



บึงมาลา: ซากปราสาทขอมแบบดิบๆท่ามกลางป่าใหญ่


บึงมาลา (Beng Mealea, “เบ็งเมเลีย” បឹងមាល มีความหมายว่า “บึงดอกไม้”) เป็นซากศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่ห่างจากเมืองยโศธรปุระ (นครวัด-นครธม) ไปทางตะวันออกราว 40 กิโลเมตร วัสดุหลักในการก่อสร้างโบราณสถานแห่งนี้เป็นหินทราย ที่อาจมาจากเขาพนมกุเลนที่ห่างจากบึงมาลาไปราว 7 กิโลเมตร สำหรับขนาดของปราสาท หากพิจารณาจากระเบียงคดชั้นนอกว่าเป็นขอบเขตของปราสาทจะมีขนาด 181 x 152 เมตร ปราสาทบึงมาลายังเป็นศูนย์กลางของเมืองโบราณที่ล้อมรอบด้วยคูเมือง ขนาด 1,025 x 875 เมตร


ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Map แสดงร่องรอยคูเมืองและบารายบริเวณปราสาทบึงมาลาที่ตื้นเขินไปหมดแล้ว ซึ่งขอบเขตของบารายสังเกตได้จากคันดินที่เคยใช้เป็นผนังบาราย

ปราสาทบึงมาลามีระเบียงคด 3 ชั้น หันด้านหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ก็มีทางเข้าในทิศหลักอีก 3 ทิศที่เหลือ ซึ่งทางเข้าหลักสำหรับนักท่องเที่ยวในปัจจุบันเป็นทางเข้าด้านใต้ ราวบันไดและทางเดินนำเข้าไปสู่ปราสาทประดับด้วยรูปพญานาค ส่วนภาพสลักหินนูนต่ำที่มีตามปราสาทแห่งนี้จะเป็นเรื่องตำนานในศาสนาฮินดู รวมถึงเรื่องกวนเกษียรสมุทร และปางอวตารต่างๆของพระวิษณุด้วย


แผนที่ปราสาทบึงมาลา ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก (ด้านล่างของภาพ) ประกอบด้วย
- ระเบียงคด
3 ชั้น
- ปราสาทประธานตรงกลาง
- บรรณาลัยซ้าย
-ขวาของปราสาทประธาน
- หอคัมภีร์ซ้าย
-ขวา ระหว่างระเบียงคดชั้นกลางและชั้นนอก, ทางด้านซ้ายในแผนที่
- ระหว่างระเบียงคดชั้นกลางกับชั้นนอก มีอาคารคลังทางด้านบน ใช้เก็บสิ่งของประกอบศาสนพิธี ของมีค่าที่ศาสนิกชนนำมาถวาย ที่ปฏิบัติงานและที่พักของพราหมณ์
- วิหารหรือหอพิธีกรรมทางด้านล่าง 

ต้นฉบับแผนที่วาดโดย Léon de Beylié นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่มาสำรวจปราสาทบึงมาลาในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 ส่วนเส้นสีแดงแสดงทางเดินไม้ที่ทำขึ้นใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวในการเยี่ยมชม
[ที่มาของภาพ: 
https://www.siemreap.net/visit/angkor/remote-temples/beng-mealea/ ]

ทางนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีไม่ทราบประวัติของปราสาทบึงมาลาแน่ชัดนัก เพราะขาดจารึกที่กล่าวถึงการสร้างปราสาท จึงอนุมานจากลักษณะศิลปะ การเรียงหินและสถาปัตยกรรม นักวิชาการทางฝรั่งเศสในสมัยที่กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นอยู่เชื่อว่า บึงมาลาถูกก่อสร้างร่วมสมัยกับนครวัด ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (ช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 12) และอาจเป็นตัวต้นแบบของปราสาทนครวัด แต่แนวคิดอื่นจากวิทยานิพนธ์ ป.ตรี ในสาขาโบราณคดี มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ กลับเสนอว่าบึงมาลาอาจถูกสร้างในรัชสมัยพระเจ้ายโศวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากการสร้างนครวัดไปแล้ว


ภาพวาดจินตนาการของปราสาทบึงมาลาขณะยังมีสภาพสมบูรณ์ โดย Louis Delaporte นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1860 ทิศตะวันออกอยุ่ทางด้านล่างของภาพนี้


หลังจากที่ปราสาทบึงมาลาถูกทิ้งร้างมาหลายศตวรรษ ก็ถูกค้นพบโดยนักสำรวจชาวฝรั่งเศสในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 แต่พอเข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา ปราสาทบึงมาลาได้รับความเสียหายทั้งจากสงคราม การวางกับระเบิดสกัดฝ่ายตรงข้ามระหว่างการถอยร่นเข้าป่าของกลุ่มเขมรแดง การขุดค้นหาสมบัติ หรือแนวคิดการกวาดล้างศาสนา หลังสงครามกลางเมืองจบ ทาง Halo Trust องค์กรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนานาชาติก็ได้เข้ามาเริ่มเก็บกู้วัตถุระเบิด จนทำการเก็บกู้ในบริเวณปราสาทบึงมาลาแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2003

ด้วยสภาพของปราสาทที่ชำรุดทรุดโทรม ยังไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ทำให้ได้บรรยากาศของฉากโบราณสถานลึกลับในป่าดงดิบตามนิยายหรือเกมแนวผจญภัย

หลังจากแนะนำปราสาทบึงมาลาแล้ว มาลุยปราสาทแห่งนี้กันเลยครับ

--------------------------------------





รูปสลักรูปพญานาคที่นี่ เท่าที่ผมเจอมีทั้งแบบ 5 เศียร (ตรงทางเดินเข้าไปยังปราสาท) กับแบบ 7 เศียร (ในปราสาท) ทางผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามีนัยแฝงในความแตกต่างกันหรือไม่



ซุ้มประตูโคปุระทางใต้ของระเบียงคดชั้นนอกที่เต็มไปด้วยกองหินระเกะระกะ เลยต้องเลี้ยวขวาเพื่อขึ้นทางเดินไม้


ซุ้มประตูหลอกพร้อมทับหลังและหน้าบันรูปพระอัคนีทรงระมาดเหนือประตู สลักบนผนังวิหารตรงหัวมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้


ลวดลายต่างๆที่ถูกสลักบนฐานของระเบียงคดชั้นนอก


ประตูกลางด้านหน้าวิหารมีหน้าบันสลักรูปเรื่องรามายณะ มีรูปคนนอนดำนั้นอยู่ทางด้านล่างของหน้าบัน ส่วนทับหลังที่อยู่ด้านหลังหน้าบันสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ


ซุ้มประตูหลอกพร้อมทับหลังและหน้าบันรูปนางสีดาลุยไฟเหนือประตู สลักบนผนังวิหารตรงหัวมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือ


บริเวณโคปุระของระเบียงคดชั้นกลางที่หลังคาพังลงมาแล้วและเต็มไปด้วยรากไม้เกี่ยวพัน


ระหว่างที่เดินๆไปก็เจอทับหลังกองอยู่ตามพื้นด้วย อย่างในรูปนี้เป็นหน้าบันรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย


เดินไปเรื่อยๆ ก็เจอทับหลังรูปวิษณุครุฑพ่าห์


บริเวณปราสาทประธานที่พังไปหมดแล้ว ส่วนตัวผมชอบมุมนี้นะ ซากปรักหักพังกับทางเดินไม้ให้ความรู้สึกเหมือนลุยด่านในเกมผจญภัยเลย และช่วงหลังๆที่เยี่ยมชมปราสาทบึงมาลา ก็เดินออกนอกทางเดินไม้ เลยหลงทางบ้างเล็กน้อย


ทับหลังสลักรูปกวนเกษียรสมุทร สังเกตจากรูปเทพกับยักษ์จับดึงพญานาคอยู่ ดูเผินๆคล้ายกำลังชักเย่อ


ซากหอคัมภีร์หลังซ้าย (ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้) ของปราสาทบึงมาลา


เจอทับหลังตามพื้นอีกครั้ง คราวนี้เป็นรูปพระกฤษณะสังหารนาคกาลียะ


โคปุระด้านหนึ่งของระเบียงคดชั้นนอก เต็มไปด้วยกองหินระเกะระกะเหมือนโคปุระของระเบียงคดชั้นนอกด้านอื่นๆ


ตามผนังด้านนอกของระเบียงคดชั้นนอก มีรูปสลักนางอัปสราแซมอยู่บ้าง แต่ก็มีไม่ค่อยมาก (โดยเฉพาะหากเทียบกับนครวัด)


ระเบียงคดชั้นนอกด้านหนึ่งที่ผนังพังทลายด้านเดียว ทำให้เห็นลักษณะภาคตัดขวาง (Cross Section) ของระเบียงคด

หลังจากที่เดินเลียบระเบียงคดชั้นนอกจนกลับมาเจอบริเวณทางเดินไม้ที่เดินเข้าไปในปราสาทก็ถือว่าเดินวนครบแล้ว อีกทั้งเวลาที่นัดเจอกับพี่คนขับแท็กซี่ก็เหลืออีกไม่มาก เลยรีบออกไปหน้าปราสาทเพื่อไปยังจุดมุ่งหมายถัดไป…กลุ่มโบราณสถานโรลัวะ

สำหรับปราสาทบึงมาลาแห่งนี้ ในความคิดผมแล้ว นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำสำหรับคนที่ต้องการไปเยี่ยมชมปราสาทขอมขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวไม่เยอะ และสภาพยังค่อนข้าง”ดิบ” (ยังไม่ผ่านการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์มากนัก) แต่อาจต้องเสียค่ารถเพิ่มสักหน่อยเพราะอยู่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองเสียมเรียบครับ


-------------------------------------------------

บทความตอนที่แล้วในชุดบทความ “จุมเรียบซัว...เสียมเรียบ”

ตอนที่ 1: วางแผนทริปแบคแพค การเดินทาง ที่พัก ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไป

ตอนที่ 2: แนะนำเมืองเสียมเรียบ วัดพระพรหมรัตน์ พระตำหนักหลวง และศาลองค์เจ็กองค์จอม

ตอนที่ 3: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์, ตั๋ว Angkor Pass, ปราสาทพนมบาแคง และการแสดงพื้นบ้านกัมพูชา

ตอนที่ 4: เกาะแกร์-โฉกครรคยาร์ อดีตเมืองหลวงสั้นๆแห่งอาณาจักรขอม








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น